วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๗ )

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๑๗
        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสองค์ที่ ๔ในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชประวัติอันมหัศจรรย์ กล่าวคือ ทรงปฎิสนธิมาในโลกนี้ ในฐานะสามัญชนแล้วต่อมาได้เป็นเจ้าฟ้า  ได้เป็นพระมหาอุปราช ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในที่สุด  และในเวลาที่พระองค์ทรงจุติปฎิสนธิมานั้นบ้านเมืองก็กำลังเป็นกลียุค  พม่าเหยียบย่ำกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ในขณะที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองอยู่นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังทรงสถิตอยู่ในครรภ์พระราชมารดา  

     พระเจ้าตากสินมหาราชตีกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้นแตกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ยังไม่ประสูติ  กองทัพพม่าถูกตีแตกสูญสิ้นไปแล้วถึง ๓ เดือนเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ประสูติ  เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๑๐  จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องหลบภัยพม่าต่อไปอีก


พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม 





พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 ณ. วัดอัมพวันเจติยาราม 



     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคงจะได้มาประสูติที่พระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) ที่บริเวณวัดอัมพวันเจติยารามนั่นเอง 


วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๖)


ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๑๖

        สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) นั้นนับว่าท่านเป็นสตรีที่มีบุญบารมีเป็นอัศจรรย์ท่านหนึ่งในเมืองไทย  ท่านกำเนิดมาเป็นธิดาเศรษฐี ได้เป็นคุณหญิง ท่านผู้หญิง และพระบรมราชินี ได้เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  และพระมหาอุปราชถึง ๒ พระองค์  ได้เป็นสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอีกถึง ๓ พระองค์  คือรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระชนมายุยาวนานมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๖๙ จึงสวรรคต ท่านประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๘๐  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ทรงเสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพ.ศ.๒๓๐๕  มีราชโอรสธิดารวม ๙ องค์คือ
     ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์แต่คร้ังกรุงศรีอยุธยายังไม่แตก 
     ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
     ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่  เป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช มีพระราชโอรสองค์หนึ่งคือ  เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต 
    ๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ (วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุล นพศก จ.ศ. ๑๑๒๙)   สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๖๗ 
     ๕.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมหลวงศรีสุนทรเทพ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๑๓ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๕๐
     ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์สมัยกรุงธนบุรี
     ๗. กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ ประสูติพ.ศ. ๒๓๑๕ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๖๐
     ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์สมัยกรุงธนบุรี 
     ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประไพวดี  กรมหลวงเทพยวดี ประสูติพ.ศ.๒๓๒๐  สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๖๖

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๕)




     ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้สร้างวัดนี้   สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี   หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้างแน่นั้น  สมควรจะยุติลงได้ว่า  สมเด็จพระรูปฯ คงจะได้บริจาคที่สวนเดิมอุทิศถวายให้เป็นที่สร้างวัดไว้ก่อน  ต่อมาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  คงจะได้ทรงเป็นหัวหน้าบรรดาเจ้าคุณพระอัยกาทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทร  ซึ่งเป็นเจ้าราชินิกุลแต่มั่งมีศรีสุขแล้วน้ัน  รวมรวมที่ดินและพระตำหนักเดิมของแต่ละท่านเข้าด้วยกัน  สร้างวัดถวายแด่สมเด็จพระรูปฯ   สร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญและกุฎิสงฆ์ขึ้นก่อน  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ก็เสริมสร้างขี้นอีก มาในรัชกาลที ๓ ก็บูรณะปฎิสังขรณ์เป็นการใหญ่  สร้างพระปรางค์ พระวิหาร พระที่นั่งทรงธรรมขึ้น  และในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ก็บูรณะซ่อมแซมมาทุกๆรัชกาลดังกล่าวแล้ว   แต่ก็คงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระรูปฯผู้ทรงเป็นต้นวงศ์ราชินิกุลบางช้างทั้งสิ้น     ฉนั้นจึงยุติลงได้ว่า   วัดนี้สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสร้างดังกล่าวแล้ว   จึงควรจะได้กล่าวถึงประวัติท่านผู้สร้างวัดนี้ด้วย

     สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  พระนามเดิมว่า สั้น ทรงสืบเชื้อสายมาแต่ท่านตาเจ้าแสน   ท่านตาเจ้าแสนมีบุตรีชื่อ ท่านยายเจ้าถี   ท่านยายเจ้าถีมีธิดาชื่อ สั้น คือสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  สมเด็จพระรูปฯ สมรสกับสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ พระนามเดิมว่า ทอง  ซึ่งเป็นบุตรท่านยายเจ้าชี   ท่านยายเจ้าชีเป็นบุตรท่านตาปะขาวพลอย  และท่านตาปะขาวพลอยเป็นบุตรท่านตาเจ้าแสน  ฉนั้นสมเด็จพระรูปและสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอก็เป็นญาติวงศ์เดียวกัน  สืบมาแต่พี่น้องท้องเดียวกัน  ๒ ท่านชื่อพลาย กับแสน 

     สมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ(ทอง) นั้นสิ้นพระชนม์แต่สมัยกรุงธนบุรี  ส่วนสมเด็จพระรูปฯ ได้ทรงผนวชเป็นชีมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๑   ทรงมีพระโอรสธิดารวม ๑๐ ท่านคือ

    ๑. เจ้าคุณหญิงแว่น ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
    ๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ สมรสกับท่านตาเจ้าขุนทอง  มีบุตร ๑ ธิดา๑ คือ  เจ้าพระยาอัครมหาเสนา(สังข์)  สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒  และเจ้าจอมหงษ์ ในรัชกาลที่ ๑ 
    ๓. เจ้าคุณชายชูโต  สมรสกับท่านยายทองดี  มีธิดาชื่อคุณหญิงม่วง  เป็นภรรยาพระยาสมบัติบาล(เสือ) มีบุตรธิดาสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล ชูโต   ต่อมาแยกเป็น แสงชูโต และ สวัสดิชูโต รวม ๓ สาขา
    ๔. สมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  มีพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  สืบสายราชวงศ์จักรีต่อมาจนบัดนี้  และทรงเป็นต้นราชสกุล  ณ อยุธยา ในบัดนี้ หลายสาขา คือ กล้วยไม้, กุสุมา, เดชาติวงศ์, พนมวัน, กุญชร, เรณุนันทน์, นิยะมิศร, ทินกร, ไพฑรูย์, มหากุล, วัชรีวงศ์, ชุมแสง, สนิทวงศ์, มรกฎ, นิลรัตน์, อรุณวงศ์, กปิตถา, อาภรณ์กุล, ปราโมช, มาลากุล, พนมวัน รวม ๒๑ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๓อีก คือ ศิริวงศ์, อรนพ,สุบรรณ, สิงหรา, ชมพูนุช, ปิยากร, คเนจร, โกเมน, งอนรถ, อุไรพงศ์, ลำยอง, ลดาวัลย์ และชุมสาย รวม ๑๓ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๔ อีกคือ  นพวงศ์, สุประดิษฐ์, กฤษดากร, คัคณางค์, สุขสวัสดิ์, ทวีวงศ์, ทองใหญ่, เกษมสันต์, กมลาศน์, จักรพันธ์ุ, เกษมศรี, ศรีธวัช, ทองแถม, ชุมพล, เทวกุล, ภาณุพันธ์ุ, สวัสดิกุล, จันทรทัต, ชยางกูร, วรวรรณ, ดิศกุล, โสณกุล, จิตรพงศ์, วัฒนวงศ์, สวัสดิวัฒน์,  ไชยันต์  รวม ๒๖ สาขา

     สืบสายมาทางราชสกุลรัชกาลที่ ๕ อีก คือ กิตติยากร, รพีพัฒน์, ประวิตร, จิรประวัติ, อาภากร ,บริพัตร, ฉัตรชัย, เพ็ญพัฒน์, จักรพงศ์, ยุคล, วุฒิชัย, สุริยง, รังสิต, จุฑาธุช, และมหิดล รวม ๑๕ สาขา 

    สืบสายมาทางกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  คือกาญจนวิชัย, กัลยาณะวงศ์, สุทัศนีย์, วรวุฒิ,รุจจวิชัย, วิบูลยพรรณ, รัชนี, และวิสุทธิรวม ๘ สาขา

     รวมที่สืบสายสกุลโดยตรงลงมาทางสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ๑๐๕ สาขา
     ๕.เจ้าคุณชายแตง ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล 
     ๖.เจ้าคุณหญิงชีโพ  ถูกพม่าจับไปสูญสิ้นวงศ์
     ๗.เจ้าคุณชายพู ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๘. เจ้าคุณหญิงเสม ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๙. เจ้าคุณหญิงนวล สมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค)  มีบุตรสืบสกุล"บุนนาค" ต่อมา อันนับเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาใหญ่ 
     ๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว  คนท้ังหลายเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง  เพราะท่านอยู่ที่บางช้างตลอดมาจนสิ้นบุญ สมรสกับพระแม่กลองบุรี(ศร) เจ้าเมืองแม่กลอง หรือเมืองสมุทรสงครามในบัดนี้  ตำแหน่งเจ้าเมืองแม่กลองน้ันเรียกว่า พระยาแม่กลอง หรือ พระยาสมุทรสงคราม  ตามชื่อเมืองอันเป็นนามตำแหน่ง แต่บรรดาศักดิ์จริงนั้นในที่หลายแห่งว่าเป็นพระแม่กลอง  มีบุตรสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล "ณ บางช้าง"   อันเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาหนึ่ง  คนส่วนมากเข้าใจว่าสกุลนี้เท่านั้นที่เป็นราชินิกุลบางช้าง  ที่จริงน้ัน สกุล  ณ บางช้าง กับ ราชินิกุลบางช้าง  นั้น คนละคำมีความหมายต่างกัน 

     ถ้าพูดถึง ราชินิกุลบางช้าง ก็หมายรวมถึง สกุล บุนนาค  และสกุล ชูโต แสงชูโต ด้วย เพราะเป็นราชินิกุล หรือสกุลฝ่ายวงศ์ญาติข้างพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  สมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก  เป็นต้นกำเนิดวงศ์ราชินิกุลบางช้าง  คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทรฯ  ก็ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่น้ันมา เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒   หรือพูดง่ายๆว่าถ้าสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไม่มีพระราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ราชินิกุลบางช้างก็ไม่มี

     ที่นำเอาราชินิกุลบางช้างและราชสกุลที่สืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มาลงไว้ยืดยาวก็เพื่อประโยชน์ของท่านที่ประสงค์จะบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยาราม  หรือคิดจะสร้างพระรูปของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับเมืองนี้ในวันหน้า  จะได้ระลึกถึงผู้สืบสายราชินิกุลแบะราชสกุลดังกล่าวแล้วนี้  เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกันให้สำเร็จต่อไป

     

     
    

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๔)




     รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ ไม่พบหลักฐานว่าได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรวัดอัมพวันฯ เหมือนรัชกาลก่อนๆ  แต่ก็เผอิญในรัชกาลน้ันๆ มีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยในแผ่นดิน  เช่น การเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลที่ ๗  จนถูกคณะราษฎร์ปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และต้องสละราชสมบัติเสียก่อน  รัชกาลที่ ๘ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์  ยังไม่ได้ทันบรมราชาภิเศก ดังนี้เป็นต้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินต้น  ที่วัดนี้เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๑ มีประชาชนชาวเมืองสมุทรสงครามมาเฝ้าชมพระบารมีแน่นขนัดสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  และแน่นวัดอัมพวันเจติยาราม  ยังเป็นภาพประทับใจชาวเมืองสมุทรสงครามอยู่ไม่รู้ลืม   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นโพธิ์ไว้ต้นหนึ่งที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ต้นหนึ่งแทนต้นเก่าที่ตายไป  ณ. บริเวณพระปรางค์ ด้านทิศตะวันตก  ต้นไม้ท้ังคู่นี้จะเป็นต้นไม้ในประวัติศาสตร์คู่กับวัดต่อไปชั่วกาลนาน  

     ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๑ นั้นมีข้าราชบริพารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก อาทิเช่น นายพจน์ สารสิน, พลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศล, พลตำรวจโทประชา บูรณะธนิต, นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ได้ไปรอรับเสด็จอยู่ด้วย   สมัยนั้น นายชาติ อภิศลย์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม 

     ในคราวเสด็จพระราชดำเนินคร้ังน้ันเอง  ท่านเจ้าคุณพระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขันติโก)  เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ ได้ทูลถวายพระพรถึงเรื่องประวัติของวัดนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอันมาก  รับสั่งว่า "เขียนสิ รู้อะไรก็เขียนไว้..."  และนี่เองเป็นมูลเหตุของการเขียนประวัติวัดนี้  ท่านเจ้าคุณพระอัมพวัน  ได้มีจดหมายเรียกผู้เขียนไปพบและปรารภว่า  "มองไม่เห็นใคร ขอให้ช่วยเขียนประวัติวัดนี้ด้วย  จะพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน ปรารถนาที่สุดในชีวิตก็คือ  อยากจะเห็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาวสมุทรสงคราม ประสูติที่บริเวณวัดนี้  ได้สร้างขึ้นเป็นอนุสาวรรีย์ที่เคารพสักการะของชาวเมืองนี้สืบไปภายหน้า" ผู้เขียนจึงรับปากว่าจะเขียนเรื่องนี้ให้ด้วยความเต็มใจ 

     พูดถึงเรื่องสมภารวัดอัมพวันเจติยารามนี้  พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช  รับสั่งไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า     "แต่ก่อนมาเป็นวัดราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น  เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่  การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้น  เห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล  ไม่เหมือนวัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีๆนี่ จนราษฎรในคลองอัมพวา  ก็พากันไปทำบุญเสียทีวัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้าง ไม่มีอย่างอื่น  นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้.."  

     คร้้งน้ันเมื่อเสด็จกลับได้โปรดเกล้าฯ ตั้งพระครูมหาสิทธิการ(แดง) วัดบ้านแหลม เป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ  ไปเป็นสมภารวัดอัมพวันเจติยาราม 

     รายนามเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งเป็นพระราชาคณะโดยมาก  คือ 
     ๑. พระวินัยมุนี(บัว) ผู้สร้างวัดปทุมคณาวาส และวัดท้ายหาด 
     ๒. พระวินัยมุนี (น้อย) 
     ๓. พระราชศรัทธาโสภิต (ศรี) 
     ๔.พระสนิทสมณคุณ (เนตร)
     ๕. พระมหาสิทธิการ (แดง)
     ๖. พระมหาสิทธิการ(ถมยา)
     ๗. พระครูสมุห์ฮ้อ
     ๘.พระครูอัมพวันเจติยาภิบาล (ลิบ)
     ๙. พระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขนติโก)  เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๐๖

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๓)



     ดังได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นว่า วัดสุวรรณดาราราม เป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระบรรพบุรุษต้นบรมราชวงศ์จักรีเป็นผู้ทรงสร้าง  คือสมเด็จปฐมบรมไปยิกาธิบดี(ทองดี) และพระอัครชายา(ดาวเรือง)  ซึ่งเป็นพระชนกชนนีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสวยราชย์แล้ว ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ร่วมกับพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมชื่อว่า วัดทอง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า  "วัดสุวรรณดาราราม" โดยนำเอาพระนามเดิมของพระชนกชนนีมาผสมกันเป็ฺนนามวัด  คือ สุวรรณ(ทองดี) และดารา(ดาวเรือง)   จึงเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์  จะต้องบูรณะปฎิสังขรณ์และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินที่วัดนี้

     ส่วนวัดอัมพวันเจติยารามก็เป็นวัดหลวง ซึ่งบรรพบุรษต้นวงศ์ราชินิกุลของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง  พูดด้วยภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆก็คือ  วัดสุวรรณดารามเป็นวัดหลวงฝ่ายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  และวัดอัมพวันเจติยารามเป็นวัดหลวงฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินี

     รัชกาลที่ ๕จึงทรงรับสั่งว่า "วัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิเป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม"  ดังกล่าวแล้ว  จึงถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี  จะทรงบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยารามตลอดมาทุกรัชกาล   รัชกาลที่ ๕เสด็จมาในคร้ังน้ันก็ได้พระราชทานเงินบูรณะซ่อมแซมด้วย   ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาว่า "ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔๐๐๐ บาท และเรี่ยไรได้บ้าง..."  เงินสมัยนั้นแพงมีค่าประมาณ ๕๐ เท่าของสมัยปัจจุบัน   ก็ราว ๒๐๐,๐๐๐ บาทของสมัยนี้   และที่ว่าเรี่ยไรได้บ้างนั้น  ก็คือเรี่ยไรพระบรมวงศานุวงและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จนั่นเอง  รับสั่งต่อไปว่า " จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร..." 

     พระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จคร้ังก่อนและครั้งสุดท้าย  ประกอบด้วย
     ๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร 
     ๒. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระบรมราชินีนาถ
     ในพระนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้น  ไม่ปรากฎพระนามว่าตามเสด็จ  แต่ปรากฎจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีถึงพระครูมหาสิทธิการ(แดง)  ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๔  ว่า "เมื่อปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในขบวนหลวง..." แสดงว่าเสด็จด้วย
     ๓.กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ทรงเป็นกัปตันเรือถือท้ายเรือพระที่นั่ง  
     ๔.สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี  พระอัครราชเทวี 
     ๕.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ 
     ๖.สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้บัญชาการทหารเรือ
     ๗.สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
    ๘.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
    ๙. กรมพระสมมุติอมรพันธ์ุ
    ๑๐. กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ 
    ๑๑.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา
    ๑๒.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์
    ๑๓.กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
    ๑๔.กรมขุนสีหวิกรมเกรียงไกร
    ๑๕.กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
    ๑๖.กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์
    ๑๗.เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
    ๑๘.พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (แฉ บุนนาค) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี
    ๑๙.พระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค)  ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม
    ๒๐.พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) 
    ๒๑.พระยานิพัทธราชกิจ( อ้น นรพัลลภ)
    ๒๒.พระยาสุรินทร์ฤาชัย (เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
     
     ส่วนพระยาศิริไชยบุรินทร์ (สุข โชติเสถียร) ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี  และพระยาประสิทธิสงคราม (นุช มหานีรานนท์)  ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี  จะได้ตามเสด็จมาในขบวนด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ  แต่มีกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขานั้น  เจ้านายที่ได้กล่าวพระนามและกล่าวนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่ได้เคยเสด็จทอดพระเนตรและชมวัดอัมพวันเจติยารามมาแล้วท้ังสิ้น  

    เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ และวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาตรวจการณ์คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม  ก็ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามด้วย   ปรากฎว่าพระครูมหาสิทธิการ(ถมยา) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ และเจ้าคณะแขวงอัมพวา  ได้ตามเสด็จไปตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดนี้หลายแห่ง 



วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๒)





     จะเห็นว่าคนโบราณท่านมักทำอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาเช่นนี้เสมอ  เช่นจะสอนอะไรท่านก็ไม่ได้สอนตรงๆ แต่มักจะกล่าวไว้เป็นเชิงสุภาษิตหรือคำพังเพยให้คิดเป็นปริศนาเล่น  เช่น "พระนิพานนั้นหรือ ก็คือ ไม่หนี ไม่สู้  ไม่อยู่ ไม่ไปนั่นเอง" หรือเช่นว่า "บ่ออะไรเล่าจะลึก ศึกอะไรเล่าจะยาก จากอะไรเล่าจะ
เข็ญ เห็นอะไรเล่าจะน่ากลัว  กลัวอะไรเล่า จะต้องกล้าสู้..."

     หรือแม้แต่ในตำรับพิชัยสงคราม ท่านกล่าวถึงกลศึกไว้ ๒๑ กล เพียงแต่ชื่อกลก็ยังเป็นคำซ่อนเงื่อนให้เราแก้เสียแล้ว  เช่น"หนึ่งชื่อว่ากลฤทธิ์ สองชื่อว่ากลสีหจักร สามชื่อว่ากลวลักษณ์ซ่อนเงื่อน  สี่ชื่อว่ากลเถื่อนกำบัง  ห้าชื่อว่ากลพังภูผา  หกชื่อว่ากลม้ากินสวน เจ็ดชื่อว่ากลพวนเรือโยง แปดชื่อว่ากลโพงน้ำบ่อ  เก้าชื่อว่ากลล่อช้างป่า  สิบชื่อว่ากลม้าดำดิน สิบเอ็ดชื่อว่ากลอินทร์พิมาน สิบสองชื่อว่ากลผลาญศัตรู  สิบสามชื่อว่ากลชูพิษแสลง  สิบสี่ชื่อว่ากลแข็งให้อ่อน สิบห้าชื่อว่ากลย้อนภูเขา สิบหกชื่อว่ากลกลเย้าให้ผอม สิบเจ็ดชื่อว่ากลจอมปราสาท  สิบแปดชื่อว่ากลราชปัญญา สิบเก้าชื่อว่ากลฟ้าสนั่นเมือง ยี่สิบชื่อว่ากลเรียงหลักยืน ยี่สิบเอ็ดชื่อว่ากลปืนพระราม..." เช่นนี้ก็เป็นตัวอย่าง 


     การที่ท่านสร้างพระอุโบสถ  พระที่นั่งทรงธรรม และพระปรางค์ไว้ที่วัดอัมพวันเจติยารามนั้น  ก็เป็นปริศนาข้อใหญ่ ผู้ใดสนใจใคร่จะลองปัญญาก็โปรดตีปัญหาดู  ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะผิดถูกประการใด  นี่ก็ลองนึกดูตามที่คิดเห็นเอาเองเท่านั้น 

วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมมีชื่อว่า วัดอัมพวา  ตามชื่อตำบลบ้าน  หรือเรียกที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปว่า  "อัมพวาสวนนอก"   ภายหลังต่อมาท่านนักปราชญ์ผู้เฟื่องฟูทางภาษาบาลี   ท่านเลยแปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลีเสียเลยว่า "อัมพวาพาหิรุทยานประเทศ" ชื่อวัดอัมพวันเจติยารามนี้เข้าใจว่าจะเป็นชื่อพระราชทานในสมัยบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓  หรือรัชกาลที่ ๔ นี้เอง เพราะคำว่า "เจติยาราม" ทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลังที่สร้างพระปรางค์แล้ว  ชือ่"อัมพวันเจติยาราม" ก็เป็นชื่อที่มีความหมายไพเราะเหมาะสม กล่าวคือ "อัมพวัน" โดยพยัญชนะก็แปลว่า "สวนมะม่วง"  โดยความหมายก็หมายถึง"อัมพวาสวนนอก"  และต้นมะม่วงยังเป็นต้นไม้เกี่ยวเนื่องอยู่ในพุทธประวัติด้วย  "เจติย" โดยความหมายก็แปลว่า"ที่เคารพบูชา"  และ "อาราม"  หมายความว่า "ที่อยู่อันร่มรื่นเกษมสำราญ" 

    ชื่อ "วัดอัมพวันเจติยาราม" จึงมีความหมายว่า "สวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญเป็นสถานที่เคารพบูชา"  แสดงอยู่ว่า  ผู้ที่คิดต้ังชื่อนี้เป็นบุคคลชั้นสูงซึ่งมีความรู้ดีทั้งในทางภาษา ทางศาสนา และประวัติของวัดนี้ด้วย  จึงจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นพระราชทาน แต่จะเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น  นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีก  คือวัดนี้มีชื่อเดิมอยู่แล้ว  ใครๆก็รู้ดีว่าเป็นวัดหลวง  เจ้าอาวาสหรือเจ้าบ้านเจ้าเมือง  ก็คงไม่บังอาจมาเปลี่ยนชื่อวัดนี้ใหม่ตามใจชอบ  ถึงเปลี่ยนก็ไม่เป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ที่มหาชนนิยมเรียกตาม  จะเห็นได้ว่าวัดราษฎร์ที่ตั้งชื่อเปลี่ยนชื่อกันเสียเพราะพริ้ง  เขียนป้ายไว้เสียสวยงาม  แต่ไม่มีใครนิยมเรียกตาม

     ขอให้เรามาพิจารณาข้อความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องประวัติวัดอัมพวันเจติยารามต่อไป

      "ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง...."  ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย เสมาทำช้อนไว้เป็นเสมาคู่เช่นน้ัน เป็นคตินิยมมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หมายความว่าพระอุโบสถนี้ได้รับการบูรณะซ้อมแซมและผูกพัทธสีมาขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง 

"เห็นว่าวัดอัมพวันนี้ คงจะได้คิดให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งได้ทรงสร้างบางอย่างทุกรัชกาลมา...."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๑)



     เมื่อได้สันนิษฐานมาถึงขั้นนี้  ก็จะแลเห็นว่าปูชนียสถานทั้ง ๓ แห่งในวัดอัมพวันเจติยารามนี้  ท่านสร้างไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาถึง ๓ นัยดังนี้

     นัยที่หนึ่ง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าหลักไตรสิกขาในธรรมะของพระพุทธศาสนา  กล่าวคือพระอุโบสถเป็นที่อุปสมบทของกุลบุตรเพื่อรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อพระภิกษุสงฆ์ได้ฟังพระโอวาทปาฎิโมกข์ให้สังวรระวังในศีล  พระอุโบสถจึงหมายถึงศีลและการรักษาศีล  พระที่นั่งทรงธรรมนั้นเป็นที่เจริญภาวนาให้เกิดสมาธิ  พระที่นั่งทรงธรรมจึงหมายถึงสมาธิ  พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง มีระเบียงล้อมรอบอันหมายถึงกาย  ตัวองค์พระปรางค์นั้นหมายถึงจิตใจอันได้แก่ดวงปัญญา  คือเมื่อรักษาศึลแล้วก็เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็เกิดปัญญา  พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งศีล  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งสมาธิ  พระปรางค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา  รวมเป็นไตรสิกขา




     นัยที่สอง คือหัวใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละชั่ว ประพฤติดี  และมีจิตใสบริสุทธิ์สะอาด  พระอุโบสถเป็นทีรักษาศีล ไม่ปฎิบัตในข้อที่ห้าม เท่ากับละชั่ว  พระที่นั่งทรงธรรมนั้นคือที่ฟังธรรมเจริญภาวนา เท่ากับประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการละชั่ว  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการประพฤติดี  พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง  ย่อมเปรียบได้กับจิตใจทีใฝ่ดีย่อมพ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำมาย่ำยี มีพระระเบียงล้อมรอบ เปรียบเหมือนมีกำแพงแก้วคอยป้องกันทั้ง ๔ ทิศ  มิให้หัวใจแส่ส่ายไปหาเครื่องเศร้าหมอง ได้แก่บาปอกุศล  ที่ระเบียงนั้นมีพระพุทธรูปตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่ทั้ง ๔ ทิศ ๘ทิศ ๑๖ ทิศ  นั้นหมายถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหมวดต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน  ถ้าประพฤติปฎิบัตตามแล้ว  พระธรรมเหล่านั้นย่อมจะป้องกันผองภัยอันตรายต่างๆได้ทั้งสิ้น




     นัยที่สาม คือ พระอุโบสถ หมายถึงสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  ซึ่งพระองค์ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ  เท่ากับว่าพระองค์ละบาปละชั่วแล้วในชาตินี้ภพนี้  พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ละชั่ว  พระอังคารธาตุของพระองค์อยู่ในพระอุโบสถนั้น  คือที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถ  จึงนับเป็นที่ปลงธรรมสังเวชได้แห่งหนึ่ง   พระที่นั่งทรงธรรมนั้นหมายถึงสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  เพราะระยะเวลาตลอดพระชนม์ชีพนอกจากมิได้ทรงประกอบกรรมทำชั่วแล้ว  ยังทรงบำเพ็ญแต่บุญกุศล  พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ประพฤติชอบ พระอังคารธาตุของพระองค์บรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรมนั้น  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นสถานทีควรแก่การปลงธรรมสังขารได้แห่งหนึ่ง  พระปรางค์นั้นหมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทรงเป็นพระบรมโพธิสมภาร  เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ยากไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ  ทรงเป็นหลักของแผ่นดิน  ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความยุติธรรม  ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระปัญญาธิคุณ ทรงสอดส่องทุกข์สุขของสมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ทรงเป็นสมมุติเทพผู้บริสุทธิ์  พระคุณลักษณะของพระองค์  จึงประมวลลงเปรียบประดุจพระปรางค์อันมีลักษณะสูงส่งสง่าสวยงาม 


     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด  ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิ์คุณ  เทียบด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งคติทางพระพุทธศาสนาถึอว่า  พระมหากษัตราธิราชเจ้านั้นมีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระพุทธเจ้า  ทั้งในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิธาตุไว้สักการบูชาของมหาชน  และพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็บรรจุไว้ในพระปรางค์นั้นด้วย   พระปรางค์ที่วัดอัมพวันเจติยารามจึงเป็นสังเวชนียสถานอันควรปลงธรรมสังเวชแห่งหนึ่ง



(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๐)



เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น เป็นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พม่าก็กวาดต้อนครอบครัวไทยกลับไปทางเหนือเมืองอุทัยธานีทางหนึ่ง  ทางเมืองกาญจนบุรีทางหนึ่ง  กองทัพที่มอบให้นายทองอินทร์เป็นสุกี้พระนายกองคุมอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ตำบลบางกอกน้อยนั้นมีอยู่ไม่มาก ถูกพระเจ้าตากตีแตกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๐ นั้นเอง  ในระยะเวลานี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังไม่ประสูติ  จนพม่าถูกตีแตกหมดเมืองไทยไปแล้วถึง ๓ เดือนเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ ถ้านับเดือนขึ้นปีใหม่อย่างในปัจจุบันนี้  ก็จะเป็นพ.ศ.๒๓๑๑  เหตุใดจึงยังต้องหลบภัยพม่าไปประสูติในสุมทุมพุ่มพฤกษาที่หลังวัดจุฬามณีอีกเล่า  และกล่าวถึงวังต้นจันทน์เป็นที่ประสูติ ก็เวลานั้นยังเป็นสามัญชนอยู่ท้ัง ๓  พระองค์ ทั้งพระราชบิดา พระราชมารดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย   ไฉนที่ประสูติชั่วคราวในป่านั้นจึงกลายเป็นวังไปด้วยเล่า
ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสุติที่ในป่าหลังวัดจุฬามณีจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องผจญภัยอันสนุกซึ่งสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  จะต้องทรงรับสั่งเล่าให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบบ้าง   เพราะเป็นเรื่องประกอบบุญฤทธิ์กฤษดาภินิหารอันมหัศจรรย์  ที่รอดพ้นจากภัยพม่าข้าศึกมาได้จนได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมจะทรงทราบ และคงจะได้สร้างพระปรางค์  พระเจดีย์อะไรไว้ทีวัดจุฬามณีเป็นอนุสาวรีย์สถานที่ประสูติของพระบรมราชบิดาของพระองค์บ้าง 


แต่นี่ก็หามีปรากฎไม่  แท้ที่จริงวัดจุฬามณี เดิมชื่อว่าวัดเจ้าแม่ทิพย์ อาจจะเป็นวัดวงศ์ญาติต้นตระกูลสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีสร้างไว้ก็เป็นได้  เพราะคำว่า "เจ้าแม่ทิพย์" ชวนให้สันนิษฐานเช่นนั้น  พระมารดาของสมเด็จพระรูปฯ ชื่อว่า "ท่านยายเจ้าถี"  คำที่เรียกกันว่า "ท่านยายเจ้าถี"  กับคำว่า เจ้าแม่ทิพย์  อาจเป็นคำเดียวกัน คนเดียวกันก็เป็นได้ เพราะเสียงใกล้เคียงกัน อาจเรียกเพี้ยนกันมาก็ได้ และปรากฎว่าแต่ก่อนนั้นสมเด็จพระรูปฯ  และสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ  เคยเสด็จไปทรงธรรม และสมาทานศีลที่พระอุโบสถที่วัดจุฬามณี  จนกระทั่งครั้งหนึ่งไฟไหม้บ้าน บ่าวไพร่มาแจ้งข่าวไฟไหม้ แต่ท้ังสองมั่นคงในพระพุทธศาสนา  จึงมิได้ทรงหวันไหวปริวิตกแต่ประการใด  ทรงปลงตกว่าสมบัตินั้นย่อมจะวิบัติไปได้ด้วยสิ่งท้ังหลายในโลกล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ของเราของเขา  ทั้งรูปกายของเราต้องแตกสลายทำลายขันธ์ไปในที่สุดเช่นเดียวกัน  ทรงปลงเสียเช่นนี้แล้ว  ก็มีพระทัยแน่วแต่ในพระกุศล  ทรงศีลอุโบสถอยู่จนเช้าจึงเสด็จกลับ 

หมายความว่า เมื่อพระตำหนักเดิมที่หลังวัดจุฬามณีไฟไหม้หมดแล้ว  สมเด็จพระรูปฯ จึงมาสร้างพระตำหนักใหม่ที่บริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม  ภายหลังให้เป็นที่สร้างวัด ก็คงรวมทั้งที่ดินที่สวนและพระตำหนักนั้นด้วย  และรวมทั้งพระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ด้วย 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อสมัยอพยพหลบภัยพม่านั้น ทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  ผู้มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ซึ่งมีหน้าที่เทียบเท่ากับอัยการจังหวัด ผู้พิพากษาศาลจังหวัด  และผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดรวมอยู่ในตัวคนเดียวถึง ๓ หน้าทีนี้  นับว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหัวเมือง ไฉนจะจนตรอกถึงกับต้องมาอาศัยบ้านแม่ยายอยู่ คือสมเด็จพระรูปฯ นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้  คงจะได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยหลังหนึ่งต่างหาก  จึงต้องกล่าวว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นน่าจะมีอีกหลังหนึ่งต่างหาก  และเมื่อยกให้เป็นที่สร้างวัดแล้วก็คงจะยกพระตำหนักให้เป็นกุฎิด้วย  
เมื่อได้สร้างพระอุโบสถลงที่ตั้งพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ แล้ว  ตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯก็คงจะต้องรื้อ  หรือชลอมาปลูกใหม่ทางทิศตะวันตกใกล้ๆกับบริเวณพระอุโบสถ  เพื่อเป็นศาลาทรงธรรมหรือสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐานตามที่สมเด็จพระรูปฯทรงพระศรัทธา  ตามพระราชอัธยาศัยในสมัยที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่   จึงเรียกกันว่า ศาลาทรงธรรม ต่อมา 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปราค์สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของพระบรมราชบิดา  ก็คงสร้างลงตรงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ อันเป็นสถานที่่ประสูติของสมเด็จพระราชบิดา  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และพร้อมกันนั้นก็คงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารและพระที่นั่งทรงธรรมไว้ สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปนั้นด้วย  ถ้าจะสงสัยว่าเหตุใดไม่โปรดให้บรรจุไว้ในพระปรางค์ด้วย  ก็ต้องสันนิษฐานโดยตรัสรู้เอาเองว่า  โดยคติโบราณราชประเพณีนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงพระเกียรติยศสูงสุดในแผ่นดิน เป็นที่ล้นที่พ้น ไม่อาจจะจัดให้ผู้ใดมีพระเกียรติยศเทียมเท่าหรือเคียงคู่ได้  แม้พระราชมารดาหรือพระมเหสี  หรือว่าพระราชบิดาทีมิได้บรมราชาภิเศกเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระเกียรติยศเท่ากันก็เทียบเท่ามิได้  ในงานพระราชพิธีหรืองานแสดงพระเกียรติยศใดๆ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสูงสุดเสมอ 
การบรรจุพระอังคารธาตุจึงต้องบรรจุพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ในพระปรางค์   และบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรม 
อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานเอาเองของผู้เขียน  ขอท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา จะเห็นด้วยหรือไม่ก็โปรดวินิจฉัยเอาด้วยปัญญาตามญาณและหลักฐานที่มีดีกว่านี้ 


วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๙)



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐  หลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ ๕ ปี ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงพระชนม์ชีพอยู่  และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาอีกนาน สวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๕๒  สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึงพ.ศ. ๒๓๖๙ จึงสวรรคต ทั้งสองพระองค์นี้เป็นพระอัยกา อัยกีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๓๖๗   สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๓  ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๗๙  นอกนั้นเจ้าคุณพระอัยยิกาในราชินิกุลบางช้างก็ยังมีชีวิตอยู่หลายท่าน  แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังคือ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗  ยังได้ทันทรงพบพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่เกือบหมดทุกพระองค์  ดังได้ทรงรับสั่งเล่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "เมื่อหน้าสงกรานต์ ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันท้ังหมด  เจ้านายที่เป็นหลานๆได้พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำด้วย  แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายๆเหมือนกัน เป็นการประหลาดจึงรับสั่งถามว่า ทำไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายหมดเช่นนี้  คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน  แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย" นี่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปียังทรงได้พบพระประยูรญาติทางฝ่ายราชินิกุลบางช้าง  รวมท้ังสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าโดยตรงด้วย
ฉนั้นการที่เราจะนึกเอาเองว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ทรงทราบว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าแท้ๆของพระองค์ว่าอยู่ตรงไหน  และจะไม่ทรงทราบว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชบิดาของพระองค์ว่าประสูติที่ตำหนักไหน  ตรงไหนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้  โดยสามัญสำนึกแล้วสมเด็จย่าจะต้องทูลเล่าให้ "หลานย่า"ฟังบ้างเป็นแน่ว่า สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหน  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า  สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหนเช่นนี้แล้ว  การสร้างพระปรางค์สำหรับบรรจุพระสรีรังคารธาตุของสมเด็จพระบรมชนกนาถ  จึงจำเป็นจะต้องเจาะจงสร้างลงตรงสถานที่ประสูติของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเอง  โดยสามัญสำนึกแล้วไม่ควรสร้างที่อื่น

ที่มีกล่าวแย้งไว้ในที่บางแห่งว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์หลบภัยพม่าข้าศึก  ไปในสุมทุมพุ่มไม้รกชัฎ  ณ หลังวัดจุฬามณี  แล้วทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ณ สถานที่นั้น ดูออกจะเป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที ทำนองจะเกณฑ์ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไปประสูติเสียในป่าให้ได้  แต่ยังมีแถมท้ายว่าสถานที่ประสูตินั้นเรียกว่า "วังต้นจันทน์" ทำเป็นที่จะชักนิยายเข้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นรัง  แล้วก็จะเกณฑ์ให้พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเสียใต้ต้นจันทน์ฉนั้น  จะเห็นว่าชื่อ "พุทธ-พุทธ" เหมือนกันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ  ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติที่ใต้ต้นจันทน์จริง ก็ไม่เห็นจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศที่ตรงไหน

 แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น  

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๘)



    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ตามพระราชประวัติปรากฎว่า เป็นพระมหากษัตริย์ทีมีนิสัยถ่อมพระองค์  แม้ในพระราชพิธีถวายพระมหามงกุฎ ทรงรับมาแล้วก็มิได้ทรงสวมพระมหามงกุฎนั้น  กลับพระราชทานคืนไปยังจางวางมหาดเล็ก  แล้วรับสั่งว่า "จงเก็บไว้ให้เขาเถิด"  เพราะทรงถือว่าพระองค์มิได้เป็นเจ้าฟ้าประสูติมาภายใต้พระมหาเศวตฉัตร  พระมหาเศวตฉัตรนั้นจึงควรเป็นสิทธิของเจ้าฟ้ามงกุฎ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะได้ครองราชย์สมบัติต่อไป  พระองค์จึงมิได้ทรงพระมหามงกุฎเลยจนตลอดรัชกาล   การตั้งพระมหาอุปราชก็มิได้ทรงต้ังพระอนุชาพระองค์ใด  กลับทรงสถาปนาพระเจ้าอา  คือกรมหมื่นศักดิ์พลเสพ  พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระองค์หนึ่ง  แม้ใกล้จะเสด็จสวรรคตก็มิได้แสดงพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  กลับรับสั่งว่า "เจ้านายทีมีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ก็เป็นแต่เจ้าฟ้าใหญ่"  คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่   นอกนั้นยังทรงพระราชดำริว่า  ถ้าจะเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่บรรทมแต่เดิมมา  ก็จะเป็นที่รังเกียจแก่พระเจ้าแผ่นดินภายหน้า จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จแปรพระราชสถานมาประทับอยู่ ณ พระที่นั่งด้านทิศตะวันตก และเสด็จสวรรคต ณ ที่นั้น  นอกจากนั้นยังทรงพระราชดำริปริวิตกด้วยพระอัฐิพระอัยกา  พระอัยกี  และกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยว่าจะเป็นที่กีดขวางแก่พระเจ้าแผ่นดินต่อไป  เพราะมีกำเนิดเป็นสามัญชน  ขอให้มอบไว้แก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดก็ได้ แทนที่จะเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวัง  ดังนี้เป็นต้น  ดังนี้จึงพอเป็นเหตุผลให้แลเห็นแล้วว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอัธยาศัยเป็นประการใด  โดยเฉพาะพระราชดำริเกี่ยวกับพระอัฐิธาตุของพระราชบิดา พระราชมารดา พระอัยกา พระอัยกี   การจึงเป็นไปได้ในข้อที่ว่า  ทรงสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยารามไว้บรรจุพระอัฐิธาตุ และพระอังคารธาตุส่วนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ แตเหตุไฉนจึงไม่มีปรากฎไว้ในพงศาวดารเล่า  ก็เพราะเหตุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยเฉพาะ  และเพราะพระองค์มีพระราชอัธยาศัยถ่อมพระองค์อยู่โดยปกติดังกล่าวแล้ว

ทีนี้ก็มีปัญหาต่อไปว่า  เหตุใดจึงสร้างพระปรางค์ไว้ ณ สถานที่ตรงนั้น สถานที่น้ันเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จริงหรือ   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติ ณ สถานที่นั้นแนหรืออย่างไร ขอให้เรามาพิจารณาหาเหตุผลกันต่อไป

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๗)



พระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม


ตอนที่ ๗

ตามตำนานวัดหลวงข้างบนนั้น ปรากฎว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปรางค์ไว้เฉพาะแต่วัดที่พระบรมราชบิดาของพระองค์ทรงบูรณะและปฎิสังขรณ์ไว้เท่านั้น วัดอื่นๆมิได้ทรงสร้างพระปรางค์ไว้เลย  แม้วัดที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างหรือทรงบูรณะเองก็มิได้สร้างพระปรางค์  เช่นวัดราชนัดดาที่พระองค์ทรงสร้างพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ก็มิได้ทรงสร้างพระปรางค์ แต่สร้างพระโลหะปราสาท วัดสระเกศก็ทรงสร้างภูเขาทอง  วัดยานนาวาก็ทรงสร้างเจดีย์เป็นรูปเรือสำเภาเป็นต้น การที่เจาะจงสร้างพระปรางค์ไว้เฉพาะวัดที่พระบรมราชบิดาทรงบูรณะ  จึงทำให้เข้าใจว่าทรงสร้างพระปรางค์ไว้สำหรับเป็นที่บรรจุพระอังคารธาตุ  ของพระบรมราชบิดาของพระองค์โดยเฉพาะ





วัดหลวงอีกวัดหนึ่งทีมีพระปรางค์คือ  วัดอัมพวันเจติยาราม  วัดนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่  ณบริเวณพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์   ซึ่งเป็นสถานทีสมเด็จพระบรมราชบิดาทรงพระราชสมภพ ณ ที่นี้ด้วย จึงเป็นที่แน่นอนเหลือเกินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จะทรงพระราชดำริโปรดเกล้าฯ  เจาะจงให้สร้างพระปรางค์ไว้อีกแห่งหนึ่ง สำหรับเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบรมราชบิดาของพระองค์ไว้ส่วนหนึ่งด้วย 
ถ้าจะมีปัญหาต่อไปว่า ทำไมจึงทรงสร้างไว้หลายแห่ง มิสร้างไว้บรรจุพระอังคารของเจ้านายพระองค์อื่นบ้างหรือ  ก็อาจจะตอบได้ว่า เจ้านายพระองค์อื่นนั้นท่านล้วนแต่มีวัดของท่าน  มีเจดีย์ที่บรรจุอัฐธาตุของท่าน  และเป็นหน้าที่ของโอรสธิดาของท่านหมดแล้ว  ไม่ต้องเป็นห่วง  ยังเหลือแต่ของพระบรมราชบิดาของพระองค์เท่านั้น  ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่  เป็นหน้าที่ของพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสจะต้องทรงเป็นห่วง และจะต้องทรงจัดทำให้ดีที่สุดด้วย  ยิ่งกว่านั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   พระบรมราชบิดาของพระองค์นั้นเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ  การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เป็นพระราชโอรส และทรงเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน  จะทรงพระราชดำริโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างพระปรางค์ไว้สัก ๓ แห่ง  ให้พระวิญญาณของพระบรมราชบิดาเสด็จท่องเที่ยว  ไปสถิตอยู่ยังพระปรางค์แห่งโน้นบ้างแห่งนี้บ้าง โดยความเกษมสำราญพระราชหฤทัยนั้น  จะกระทำมิได้เขียวหรือ  ความคิดอย่างเราๆ ท่านๆ สามัญชนก็อาจจะคิดได้เช่นเดียวกัน  ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินควรเกินเหตุประการใด   และวัดที่กล่าวแล้วนั้นก็ล้วนเป็นวัดที่พระบรมราชบิดาของพระองค์ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์ไว้ท้ัง ๓ วัด   มูลเหตุการสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม  จึงไม่มีทางสันนิษฐานเป็นอย่างอื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เป็นที่บรรจุพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๖)

ตอนที่ ๖

คติการสร้างพระปรางค์  ปราสาทและพระสถูปเจดีย์น้ันย่อมมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน  คือเป็นที่เคารพสักการะบูชา คติในทางศาสนาพราหมณ์สร้างพระปรางค์ไว้เพื่อเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า  คือ พระพรหม  พระอิศวร และ พระนารายณ์  เช่น พระปรางค์ ๓ ยอด ลพบุรี เป็นต้น  แต่ต่อมาภายหลัง ถือคติว่า พระมหากษัตราธิราชเจานั้นเป็นสมมุติเทพเทียบพระผู้เป็นเจ้าด้วย  จึงนิยมสร้างปราสาทเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระบรมมหากษัตริย์ด้วย  เช่นปราสาทนครวัดเป็นที่บรรจุพระบรมศพของกษัตริย์ขอมเป็นต้น  ส่วนคติทางพระพุทธศาสนานั้นนิยมสร้างพระสถูปเจดีย์เป็นทีบรรจุพระอังคารธาตุ เช่น สร้างพระสถูปเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  และพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น  การสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ จึงปรากฎเป็นความนิยมแพร่หลายในประเทศทีนับถือพระพุทธศาสนา  อย่างในประเทศพม่า ก็ว่าเต็มไปด้วยเจดีย์ ในเมืองไทยนี้ตามวัดวาอารามแลสลอนไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่  หรืออย่างที่นายนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์) พรรณาไว้ในนิราศนรินทร์ว่า "เจดีย์ระดะแซง  เสียดยอด..."  คติในทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมสร้างพระเจดีย์เป็นพื้น การสร้างพระปรางค์เพิ่งจะมาเกิดมีขึ่้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับจะทรงพระราชดำริเป็นสามัญสำนึกว่า  พระบรมธาตุพระอัฐิธาตุทั้งหลายนั้น แท้จริงก็มีพระวิญญาณธาตุของท่านเจ้าของสถิตอยู่  จนกว่าจะต้องถึงคราวต้องจุติปฎิสนธิในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป  จึงควรสร้างเป็นพระปรางค์ ให้เป็นที่สิงสถิตของพระวิญญาณให้สวยงาม เป็นที่เกษมสำราญตามสมควรแก่พระเกียรติยศ  เมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้อยู่ปราสาทราชวังสวยงาม  มีความเกษมสำราญ เมื่อสวรรคตแล้ว ก็ควรให้พระวิญญาณได้สถิตในปรางค์ปราสาทให้สวยงามเกษมสำราญปานกัน  ดังเช่นคติในทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานก็ยังมีการสร้างเรือแพนาวา บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ แม้กระทั่งกระดาษเงินกระดาษทองเผาส่งไปให้ใช้ในเมืองสวรรค์  เช่นที่พวกจีนกระทำอยู่  คติความเชื่อถืออันนี้ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจากคติทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการระลึกชาติได้  และเรื่องชาติใหม่ภพใหม่แต่ประการใดไม่   ยังคงเป็นความเชื่อของคนไทยส่วนมากอยู่ทุกวันนี้ว่า  ตายแล้ววิญญาณล่องลอยไป รับทุกข์รับสุขตามผลกรรมที่ทำมา จนกว่าจะถึงคราวจุติปฎิสนธิใหม่  แม้คตินี้จะใช่หรือมิใช่คติทางพระพุทธศาสนาโดยแท้จริงหรือไม่ก็ตาม  เราก็ห้ามความเชื่อถืออันนี้ของคนไม่ได้  และถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท่านจะเชื่อของท่านเช่นนี้บ้างก็เป็นพระราชศรัทธาของพระองค์ท่าน  ใครจะไปว่าอะไร  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่แท้ๆ  ยังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพของพระองค์ว่า ให้มีพิธีสวดกงเต็กให้ด้วย  คนเรานั้นพอถึงคราวเกี่ยวกับการเป็นการตายขึ้นมาแล้ว  ถือเอาความเชื่อเป็นเกณฑ์ด้วยกันทั้งนั้น  ฉนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม  เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้นย่อมเป็นไปได้  ข้อสำคัญก็คือคงมิได้สร้างขึ้นเพียงประดับวัดโก้ๆเท่านั้นแน่นอน แต่ทรงสร้างขึ้นเพื่ออะไรนั้น  ขอให้เราพิจารณากันต่อไปถึงประวัติการสร้างพระปรางค์ที่วัดอื่นๆก่อน
"วัดอรุณราชวราราม  เดิมชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ทรงปฎิสังขรณ์พระอุโบสถเก่า  ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่  แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณธาราม ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นวัดอรุณราชวราราม  ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์เป็นยอดมงกุฎ  และปฎิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม...." 
"วัดราชบูรณะ  เดิมชื่อวัดเลียบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (เจ้าฟ้าต้น ต้นตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงช่วยและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบูรณะ  รัชกาลที่๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้ถอนสีมาเก่าแล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่  

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๕)

ตอนที่ ๕

"พระวิหารและกุฎิใหญ่เป็นฝืมือรัชกาลที่ ๓"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงแน่พระทัยว่า  ฝืมือการก่อสร้างพระวิหารนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ ๓ เรื่องนี้ก็มีข้อความตรงตามประวัติที่กล่าวไว้ว่าวัดอัมพวันเจติยารามได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
"พระปรางค์มีระเบียงล้อม รูปบานบนซึ่งแปลก ไม่มีที่ไหนโตเท่านี้"




พระวิหารวัดอัมพวันเจติยาราม






        ข้อความตอนนี้ทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อเนื่องมาจากเรื่องพระวิหารที่ว่าเป็นฝืมือช่างในรัชกาลที่ ๓  ก็ทำให้เข้าใจว่าทรงวินิจฉัยว่า  พระปรางค์นี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และสร้างในคราวบูรณปฎิสังขรณ์คร้ังใหญ่น้ันเอง  เมื่อตรวจดูตามตำนานวัดหลวง ๑๑๕ วัด  ก็มีพระปรางค์อยู่เพียง ๓ วัด  คือ  พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)  พระปรางค์วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  และโลหปราสาทวัดราชนัดดาราม  ซึ่งล้วนแต่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างหรือบูรณปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นทั้งสิ้น ในรัชกาลอื่นก่อนหรือหลังไม่ปรากฎว่ามีการสร้างพระปรางค์ในวัดไหนเลย  รัชกาลที่๓ นั้นโปรดการสร้างวัดวาอารามและวัตถุในพระพุทธศาสนา จนมีคำกล่าวกันว่า  รัชกาลที่ ๑นั้นใครรบเก่งก็โปรด  รัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็โปรด  รัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดก็โปรด  รัชกาลที่ ๔ ใครรู้ภาษาอังกฤษก็โปรด  ดังนี้เป็นต้น  พระปรางค์วัดอัมพวันเจติยารามนี้ ก็เชื่อได้สนิทใจว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้เช่นนี้  แม้ข้อความจะไม่แจ่มแจ้งเจาะจงลงไปโดยเฉพาะก็ตาม  
"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓นั้นทรงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗  และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔"  การสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ก็จะตกอยู่ในระหว่างนี้ แต่น่าจะเป็นสมัยตอนต้นรัชกาล คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๑  หลังจากหมดเรื่องยุ่งทางด้านเวียงจันทน์  เพราะปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๘  และหมดเรืองยุ่งทางด้านพม่า  เพราะสิงโตอังกฤษเข้าไปเดินหางอาละวาดอยู่ในกรุงย่างกุ้งแล้ว  และเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระบรมชนกนาถและสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าด้วย  กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๗  และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๙  การที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรรคตในเวลาไร่เรื่ยกันนี้ ย่อมเป็นระยะเวลาที่จะทรงบำเพ็ฺญพระราชกุศลถวาย การสร้างวัด การบูรณปฎิสังขรณ์วัดวาอารามของพระองค์จึงมีขึ้นในระยะนี้  และวัดที่จะทรงระลึกถึงก่อนวัดอื่นก็คือวัดอัมพวันเจติยาราม เพราะเหตุผลที่ว่าวัดนี้เป็นวัดราชินิกุลสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือจะพูดตรงๆ ว่าเป็นวัดของสมเด็จพระอัยกีของพระองค์โดยตรงก็ว่าได้  นอกนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ก็ทรงพระราชสมภพ ณ. ที่นั้นด้วย  พระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๖๘   และพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ถวายพระเพลิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  การสร้างพระปรางค์  พระวิหารก็อยู่ในระยะนี้เอง 



                               


                                      (โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๔)



พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๔

ปัญหาที่ว่าวัดอัมพวันเจติยารามสร้างเมื่อไร ใครสร้างแน่  สมเด็จพระรูปฯ หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  เราจะเชื่อตามคำเขาเล่าว่า "จระเข้มาที่ท่าน้ำ"  ก็เป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที เข้าทำนอง  "พระอินทร์มาเขียวๆ ไม่เชื่อเลย"  จำเป็นจะต้องยึดหลักฐานจากที่ท่านจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน



หลักฐานจากที่มีอยู่ในบัดนี้ก็มีเพียงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่พบหลักฐานที่เก่าขึ้นไปกว่านี้เลย  แต่หลักฐานที่ขนาดของเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้มานั้นย่อมจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้  ท่านเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่กับวัดวาอารามมาก มีบริวารมาก รู้จักคนมากทั้งพระภิกษุผู้ใหญ่และเจ้านายผู้มีอาวุโสสูง  ตัวท่านเองก็สืบสายตระกูลมาแต่ราชวงศ์จักรี  ่ย่อมมีทางที่จะสืบสวนข้อเท็จจริงในทางพระราชพงศาวดารและโบราณคดีได้โดยง่าย เราไม่เชื่อท่านก็ไม่ทราบว่าจะไปเชื่อใคร ตำนานวัดหลวงที่ท่านเรียบเรียงไว้ ๑๑๕ วัด ก็ล้วนมีข้อความถูกต้องตามประวัติที่ทราบกันอยู่ทั่วไปทั้งสิ้น  เราจะไม่เชื่อเฉพาะที่กล่าวถึงวัดอัมพวันก็ดูกระไรอยู่  นอกจากนั้นท่านยังได้ทูลเกล้าฯถวายในหลวงรัชกาลที ๕ ทรงตรวจด้วย

พูดถึงพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น  โลกยกย่องพระเกียรติยศว่า ทรงเป็นอัจฉริยมหาบุรุษ ทรงฉลาดรอบรู้อย่างลึกซึ้งในคดีโลกคดีธรรม  ทรงสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง  ทรงมีญาณพิเศษสามารถวินิจฉัยเหตุผลต้นปลาย  ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ทุกสิ่งทุกอย่าง  ยากที่จะหาบุคคลใดเทียบได้  เพราะฉนั้นพระราชหัตถเลขารับสั่งเล่าเรื่องวัดอัมพวันเจติยาราม  ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องควรพิจารณาโดยถี่ถ้วน จะทำให้แลเห็นประวัติความเป็นมาของวัดนี้แจ่มชัดขึ้น จะได้ยกมากล่าวใหม่ให้เห็นเป็นตอนๆ

"การซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด..."

 ความตอนนี้หมายความว่า  สวนเดิมของสมเด็จพระรูปฯนั้น รวมอยู่ในวัดวัดนี้  คำว่า สวนเดิม นั้น  ย่่อมหมายรวมถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯด้วย  นอกจากนั้นยังทรงหมายถึงว่า จะไม่ใช่เจ้าของเดียวเท่านั้น  ยังอาจมีของบรรดาโอรสธิดารวมอยู่อีกส่วนด้วย

"น่าจะเป็นว่าที่เดิมที่สำคัญต้ังพระอุโบสถขึ้นแล้ว..."   คำว่าที่เดิมที่สำคัญ นั้นน่าจะทรงหมายพระทัยถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ  ตั้งอยู่ตรงที่ตั้งพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ พระอุโบสถนั้นเป็นหลักสำคัญของวัด  เป็นที่นิมิตหมายเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์  เป็นที่สวดญัติจุตตถกรรม เป็นที่สวดพระโอวาทปาฎิโมกข์  โบราณย่อมจะถึอว่เป็นที่รองรับศิริมงคลอันสูงสุด  การอุทิศที่ให้สร้างพระอุโบสถลงตรงที่ตำหนักเดิมจึงเท่ากับอุทิศถวายที่น้ันแด่พระพุทธเจ้าโดยตรง  และถือว่าไม่มีผู้ใดจะมารื้อถอนขับไล่ไปได้อีก  ทั้งยังถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตนและวงศ์ตระกูลต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์ด้วย  เหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ นั้นอยู่ตรงที่สร้างพระอุโบสถเดี๋ยวนี้




"ทรวงทรงพระอุโบสถ  เป็นแบบอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าเทือกวัดสุวรรณดาราราม..."  ความตอนนี้หมายความว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพราะฝืมือการช่างเหมือนกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

"แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ  แต่เดี๋ยวนี้ผิดพระเศียร  น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า..."
 ความตอนนี้เท่ากับพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระประธานน้ันซ่อมหรือสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๒ เพราะตามประวัติวัดอรุณราชวรารามนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระอุโบสถหลังเก่า  แล้วยังเรียกชื่อว่า วัดแจ้งอยู่ตามเดิม  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า  วัดอรุณราชวราราม คงจะเป็นการสัณนิษฐานที่ไม่เหลือเกินนักที่จะลงความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะโปรดให้นำพระสรีรังคารส่วนหนึ่งของสมเด็จพระรูปฯ มาบรรจุไว้ ในองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันฯนี้  พร้อมทั้งให้ช่างปฎิสังขรณ์พระประธานเสียใหม่  แต่ฝืมือช่างที่ทำไว้ไม่เหมือนเดิม  ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า " น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไร  ซ่อมขึ้นไมเหมือนเก่า พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวไปกว่าพระสาวกด้วย"  พระประธานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ นับเวลาแต่เริ่มรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒  ก็เป็นเวลาเพียง ๒๗ ปี ถึงแม้จะนับต่อไปจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๖๗  ก็เป็นเวลาเพียง ๔๒ ปีเท่านั้น พระประธานสถิตย์อยู่ในพระอุโบสถ คุ้มแดดคุ้มลมคุ้มฝน ระยะเวลาเพียง ๔๒ ปี จะถึงแก่แตกพังเชียวหรือ

สมเด็จพระรูปฯ  นั้นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็น "หลานยาย"  คงจะได้ทรงจัดการบรรจุพระอัฐิและพระอังคารให้เรียบร้อย และหาที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าบรรจุไว้ในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งสร้างทับตรงตำหนักเก่าของท่านไว้  คือใต้ฐานพระประธานน้ันเอง  แต่ในระหว่างการเจาะฐานเพื่อบรรจุนั้นเอง ก็คงเกิดการกระทบกระเทือน ทำให้องค์พระประธานซึ่งเป็นปูนปั้นน้ันแตกร้าวชำรุดถึงพระเศียร จึงต้องทำการซ่อมใหม่  แต่ฝืมือไม่ดีเหมือนเก่าดังกล่าวแล้ว

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๓)

ตอนที่ ๓

การเสด็จประพาสต้นทอดพระเนตรเมืองสมุทรสงครามและวัดอัมพวันเจติยารามในคร้ังสุดท้ายนี้  ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รับสั่งเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างน่าอ่าน  ตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงวัดอัมพวันเจติยาราม และเมืองสมุทรสงครามไว้ดังนี้:-

"วันที่ ๙ กันยายน ระยะทางวันนี้สั้น ออกเรือสายล่องลงมาถึงหน้าที่ว่าการเมืองสมุทรสงคราม  พักทีแพตามเคย แล้วได้ลงเรือยนต์ออกไปดูที่ปากอ่าว  แล้วแล่นกลับขึ้นมาเข้าไปดูคลองสุนัขหอนหน่อยหนึ่ง  แล้วกลับแล่นขึ้นไปอัมพวา  แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการนายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน  แล้วล่องกลับไปเข้าคลองอัมพวา  ประสงค์จะไปให้จนถึงวัดดาวโด่ง  แต่เห็นคลองดาวโด่งแคบลงทุกทีกลัวจักกลับเรือไม่ได้ จึงได้ล่องกลับออกมาทางเดิม แวะกินน้ำชาที่บ้านชายบริพัตร (สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)  ซึ่งตั้งอยู่ในคลองอัมพวาไมลึกเท่าใด แล้วจึงได้กลับมาเรือ  วันนี้มียุงแต่ยังน้อยกว่ากรุงเทพฯ
วันที่ ๑๐ กันยายน ลงเรือไปขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม  พวกราชินิกุลมาคอยเฝ้าในที่นี้  วัดนี้ได้ลงมือปฎิสังขรณ์บ้างตั้งแต่มาคราวก่อน ไมใคร่กระเตื้องขึ้นได้ เหตุด้วยใหญ่โตมาก ไม่มีสมภารดีๆเหลือแต่พระอนุจรอยู่ ๖ รูป  เสนาสนะทรุดโทรมทั่วไปทุกแห่ง การปฎิสังขรณ์ทำแต่เฉพาะพระอุโบสถ  แต่คราวนี้เขาได้ถางที่ทั่วถึงแลเห็นขอบเขตวัด  ซึ่งน่าจะมีราษฎรลุกเหลื่อมเข้ามาเสียมากแล้ว จนที่คอดๆกิ่วๆ  ไม่เป็นเหลี่ยม  แต่กระนั้นก็ยังใหญ่โตมาก  เห็นว่าการซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จรพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด จะไม่ใช่แต่เจ้าของเดียว  จะพลอยศรัทธาตามเสด็จสมเด็จพระอมรินทร์ไปด้วยอีกมากเจ้าของด้วยกัน
 สิ่งปลูกสร้างจึงเที่ยวรายอยู่ในที่ต่างๆทั่วไป  น่าจะเป็นว่าเดิมที่สำคัญตั้งพระอุโบสถขึ้นแล้ว  ที่ใครมีอยู่ใกล้เคียงถวายเพิ่มเข้าอยู่ในวัด  สร้างเป็นกุฎิบ้าง ศาลาบ้าง วิหารการเปรียญบ้าง รายกันไป  ไม่ได้คิดวางแผนที่ในคร้ังเดียว มีจนกระทั่งยอดหลังคามุงกระเบื้องขนาดใหญ่  แต่อายุของงานที่ทำหรือปฎิสังขรณ์ย่อมต่างๆกัน  ทรวงทรงพระอุโบสถเป็นอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เทือกวัดสุวรรณดาราราม  แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ แต่เดี๋่ยวนี้ผิดพระเศียร น่าจะมีเหตแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า  พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวกว่าพระสาวกไปด้วย ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ทรงสร้าง พระวิหารและกุฎิใหญ๋เป็นฝีมือรัชกาลที่ ๓   พระปรางค์มีระเบียงล้อม  รูปบานบนซึ่งแปลกไม่มีที่ไหนโตเท่านี้ ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔,๐๐๐ บาท  และเรี่ยไรได้บ้าง  เห็นว่าวัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิดจะให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม  จึงได้ทรงบางอย่างทุกๆรัชกาลมา  จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร  ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อน่มาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น  เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่  การที่ไม่ยอมไปอยู่น้ันเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล  ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย  ซึ่งได้ประโยชน์ในทางขลังต่างๆ  แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนี้  จนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญเสียที่วัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่น นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้


กลับจากวัดไปทำครัวเลี้ยงกลางวันกันที่บ้านชายบริพัตร  บ้านนี้ทำเป็นเรือนอย่างไทย สองหลังแฝด  และหอนั่งใหญ่มีชานแล่นตลอดเป็นที่สบายอย่างไทย  ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์ไทยๆงามดี  เลี้ยงกันแล้วได้ลงเรือพายไปตามคลองอัมพวา  แวะวัดดาวดึงส์ที่เคยพักกินข้าวแต่ก่อน  แล้วเข้าคลองดาวโด่งไป จนถึงวัดดาวโด่ง  แวะที่วัดซึ่งได้เคยดูบวชนาคแต่ก่อน  คิดจะไปบางใหญ่แต่เห็นจะไม่ทันด้วยเย็นเสียแล้ว  จึงได้เลี้ยวลงทางคลองขวางไปออกคลองสุนัขหอน  แล้วกลับเข้าคลองลัดจวนขึ้นมาออกปากคลองเหนือที่ว่าการ

เมืองสมุทรสงครามนี้  ท่วงทีภูมิฐานเหมือนอย่างกรุงเทพฯ  ฝั่งตะวันตกแถบคลองบางใหญ่  บางคูเวียง  มีทางทีจะเที่ยวซอกแซกได้มาก ถ้าจะลงเรือเล็กไปเที่ยวจะไปได้หลายวัน  คนในพื้นเมืองมีความนิยมนับเจ้านาย  และไว้ตัวเป็นที่สนิทสนมทั่วไป..."

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๒)



ประวัติ
วัดอัมพวันเจติยาราม

โดย





เทพ สุนทรศารทูล



วัดอัมพวันเจติยาราม  จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญ  คู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วัดสุวรรณดารารามเป็นวัดต้นพระบรมราชวงศ์จักรี ทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้าง  ส่วนวัดอัมพวันเจติยารามเป็นวัดต้นวงศ์ราชินิกุลทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  พระราชชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง

เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร(ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เรียบเรียงตำนานวัดหลวงในราชอาณาจักร ๑๑๕ วัด ทูลเกล่้า ฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพิมพ์ในหนังสือเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙  กล่าวถึงประวัติวัดทั้งสอแห่งนี้ไว้ดังนี้

"วัดสุวรรณดาราราม อยู่ในกำแพงเมืองเก่าริมป้อมเพ็ชร กรุงเก่า สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีทรงสร้าง รัชกาลที่๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์  ทรงปฎิสังขรณ์พระอุโบสถแลเสนาสนะ  แลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงปฎิสังขรณ์ด้วย รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำการเปรียญไม่สำเร็จ สำเร็จในรัชกาลที่ ๓
รัชกาลที่ ๔พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระเจดีย์แลพระวิหารไม่สำเร็จ  มาสำเร็จในรัชกาลปัจจุบันนี้  (รัชกาลที่๕) รัชกาลนี้ทรงปฎิสังขรณ์การเปรียญ พระอุโบสถ และกุฎิทั้วสิ้นด้วย...."
"วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่เหนือปากคลองอัมพวา  เมืองสมุทรสงคราม ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสร้างใหม่  ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฎิสังขรณ์..."
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้่าเจ้าอยุ่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยาราม คร้ังแรกเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยตามหน้าที่ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น เป็นการเสด็จปลอมแปลงพระองค์มาอย่างสามัญชน  ที่เรียกกันว่า  เสด็จประพาสต้น  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เป็นทำนองจดหมายเหตุของนายทรงอานุภาพมหาดเล็กหุ้มแพร  ถึงเพื่อนชื่อประดิษฐ์เล่าเรื่องเสด็จพระพาสต้นไว้อย่างสนุกสนาน  แต่ได้ทรงกล่าวถึงวัดอัมพวันเจติยารามไว้เพียงสั้นๆ ว่า

 "วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง  แล้วเสด็จวัดอัมพวัน  กลับถึงที่ประทับเวลาค่ำ...."

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๒  และนับเป็นคร้ังสุดท้าย  หลังจากนั้นก็มิได้เสด็จประพาสต้นทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามอีกเลย  จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในปีต่อมา คือวันที่ ๒๓  ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ 





วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ 1) คำนำ





โดย 



เทพ สุนทรศารทูล


  คำนำ

          อาตมาภาพมาครองวัดอัมพวันเจติยารามนี้ ก็รู้สึกหนักใจเป็นอันมาก  ด้วยวัดนี้เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญที่สุด  เป็นวัดต้นราชวงศ์จักรีทางฝ่ายกรมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  เกรงว่าความรู้ความสามารถจะไม่คู่ควรกับวัดที่สำคัญเช่นนี้  แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  ส่วนหัวใจนั้นก็ปรารถนาเป็๋นทีสุดที่จะเห็นวัดนี้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต  และปรารถนาที่สุดก็คือ  อยากเห็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้ถูกสร้างขึ้นประดิษฐานไว้คู่บ้านคู่เมืองในจังหวัดสมุทรสงครามนี้  ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นทีวัดอัมพวันอันเป็นสถานที่ประสูตินี้  ซึ่งอาตมาเชื่อมั่นโดยไม่คลางแคลงใจเลยแม้แต่น้อยว่า  พระองค์ประสูติ  ณ บริเวณที่สร้างพระปรางค์นี้แน่นอน  อาตมาเห็นว่าพระองค์เป็๋นกษัตริย์ชาวเมืองสมุทรสงคราม  พระราชชนนีของพระองค์ เป็นชาวอัมพวา  และพระองค์ประสูติที่อัมพวา  ก็อยากเห็นพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองต่อไป  แม้จะมิได้เห็นความสำเร็จในชีวิตอาตมา   แต่ถ้าทราบว่าการสร้างพระบรมรูปจะเกิดมีขึ้นแน่นอน แล้ว อาตมภาพก็เห็นจะนอนตายตาหลับ

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินต้น ที่วัดอัมพวันฯเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ อาตมาภาพก็ได้ทูลถวายพระพรถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้  พระองค์ก็รับสั่งว่า "เขียนสิ  รู้อะไรก็เขียนไว้"  และอาตมาภาพก็ซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างหาที่สุดมิได้  แต่มานั่งคิดนอนคิดแล้วก็จนด้วยเกล้า   เพราะอาตมภาพเป็นผู้ครองวัด  จะกลายเป็นว่าโฆษณาสินค้า หรือโฆษณาตัวเองไป 
 นึกมองหาผํูทีจะทำหน้าที่แทนตนเองอยู่นาน  ก็เห็นแต่คุณเทพ สุนทรศารทูล  เป็นผู้ที่สนใจเรืองวัดอัมพวันฯ และประวัติราชินีกุลบางช้างอยู่  จนได้เขียนไว้ในหนังสือวารสารสมุทรสงคราม  อาตมภาพ  จึงได้ขอร้องให้ช่วยเขียนให้ด้วย  ซึ่งคุณเทพ สุนทรศารทูล  ก็รับคำด้วยดีบอกกับอาตมภาพว่า จะเขียนให้โดยถือเสมือนหนึ่งว่า ่"เขียนโดยรับสั่ง"  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อาตมภาพก็ปลื้มใจ  
วัดอัมพวันนี้  สำคัญอย่างไร  อาตมภาพก็ไม่อยากจะกล่าวให้มาก  และครั้งหลังสุดนั้น   สมัยสงครามโลกครังที่ ๒  ท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้อพยพหลบภัย  ย้ายจังหวัดมาอยู่ที่วัดนี้  ศาลจังหวัดก็มาทำงานที่ตำหนักวัดนี้  ท่านม.ล.ปิ่น มาลากุล  ก็มาที่วัดนี้หลายครั้ง  เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาชมบ่อย  อาตมภาพไม่มีอะไรจะแจก ครั้งนี้คงจะได้แจกหนังสือประวัติวัดให้แก่ผู้่มาชมได้โดยทั่วกัน  

(พระอัมพวันเจติยาภิบาล)
เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม

วัดอัมพวันเจติยาราม  สมุทรสงคราม
  ๑๘ ตุลาคม ๒๕๐๖