วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๐)



เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น เป็นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พม่าก็กวาดต้อนครอบครัวไทยกลับไปทางเหนือเมืองอุทัยธานีทางหนึ่ง  ทางเมืองกาญจนบุรีทางหนึ่ง  กองทัพที่มอบให้นายทองอินทร์เป็นสุกี้พระนายกองคุมอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ตำบลบางกอกน้อยนั้นมีอยู่ไม่มาก ถูกพระเจ้าตากตีแตกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๐ นั้นเอง  ในระยะเวลานี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังไม่ประสูติ  จนพม่าถูกตีแตกหมดเมืองไทยไปแล้วถึง ๓ เดือนเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ ถ้านับเดือนขึ้นปีใหม่อย่างในปัจจุบันนี้  ก็จะเป็นพ.ศ.๒๓๑๑  เหตุใดจึงยังต้องหลบภัยพม่าไปประสูติในสุมทุมพุ่มพฤกษาที่หลังวัดจุฬามณีอีกเล่า  และกล่าวถึงวังต้นจันทน์เป็นที่ประสูติ ก็เวลานั้นยังเป็นสามัญชนอยู่ท้ัง ๓  พระองค์ ทั้งพระราชบิดา พระราชมารดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย   ไฉนที่ประสูติชั่วคราวในป่านั้นจึงกลายเป็นวังไปด้วยเล่า
ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสุติที่ในป่าหลังวัดจุฬามณีจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องผจญภัยอันสนุกซึ่งสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  จะต้องทรงรับสั่งเล่าให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบบ้าง   เพราะเป็นเรื่องประกอบบุญฤทธิ์กฤษดาภินิหารอันมหัศจรรย์  ที่รอดพ้นจากภัยพม่าข้าศึกมาได้จนได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมจะทรงทราบ และคงจะได้สร้างพระปรางค์  พระเจดีย์อะไรไว้ทีวัดจุฬามณีเป็นอนุสาวรีย์สถานที่ประสูติของพระบรมราชบิดาของพระองค์บ้าง 


แต่นี่ก็หามีปรากฎไม่  แท้ที่จริงวัดจุฬามณี เดิมชื่อว่าวัดเจ้าแม่ทิพย์ อาจจะเป็นวัดวงศ์ญาติต้นตระกูลสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีสร้างไว้ก็เป็นได้  เพราะคำว่า "เจ้าแม่ทิพย์" ชวนให้สันนิษฐานเช่นนั้น  พระมารดาของสมเด็จพระรูปฯ ชื่อว่า "ท่านยายเจ้าถี"  คำที่เรียกกันว่า "ท่านยายเจ้าถี"  กับคำว่า เจ้าแม่ทิพย์  อาจเป็นคำเดียวกัน คนเดียวกันก็เป็นได้ เพราะเสียงใกล้เคียงกัน อาจเรียกเพี้ยนกันมาก็ได้ และปรากฎว่าแต่ก่อนนั้นสมเด็จพระรูปฯ  และสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ  เคยเสด็จไปทรงธรรม และสมาทานศีลที่พระอุโบสถที่วัดจุฬามณี  จนกระทั่งครั้งหนึ่งไฟไหม้บ้าน บ่าวไพร่มาแจ้งข่าวไฟไหม้ แต่ท้ังสองมั่นคงในพระพุทธศาสนา  จึงมิได้ทรงหวันไหวปริวิตกแต่ประการใด  ทรงปลงตกว่าสมบัตินั้นย่อมจะวิบัติไปได้ด้วยสิ่งท้ังหลายในโลกล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ของเราของเขา  ทั้งรูปกายของเราต้องแตกสลายทำลายขันธ์ไปในที่สุดเช่นเดียวกัน  ทรงปลงเสียเช่นนี้แล้ว  ก็มีพระทัยแน่วแต่ในพระกุศล  ทรงศีลอุโบสถอยู่จนเช้าจึงเสด็จกลับ 

หมายความว่า เมื่อพระตำหนักเดิมที่หลังวัดจุฬามณีไฟไหม้หมดแล้ว  สมเด็จพระรูปฯ จึงมาสร้างพระตำหนักใหม่ที่บริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม  ภายหลังให้เป็นที่สร้างวัด ก็คงรวมทั้งที่ดินที่สวนและพระตำหนักนั้นด้วย  และรวมทั้งพระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ด้วย 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อสมัยอพยพหลบภัยพม่านั้น ทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  ผู้มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ซึ่งมีหน้าที่เทียบเท่ากับอัยการจังหวัด ผู้พิพากษาศาลจังหวัด  และผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดรวมอยู่ในตัวคนเดียวถึง ๓ หน้าทีนี้  นับว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหัวเมือง ไฉนจะจนตรอกถึงกับต้องมาอาศัยบ้านแม่ยายอยู่ คือสมเด็จพระรูปฯ นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้  คงจะได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยหลังหนึ่งต่างหาก  จึงต้องกล่าวว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นน่าจะมีอีกหลังหนึ่งต่างหาก  และเมื่อยกให้เป็นที่สร้างวัดแล้วก็คงจะยกพระตำหนักให้เป็นกุฎิด้วย  
เมื่อได้สร้างพระอุโบสถลงที่ตั้งพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ แล้ว  ตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯก็คงจะต้องรื้อ  หรือชลอมาปลูกใหม่ทางทิศตะวันตกใกล้ๆกับบริเวณพระอุโบสถ  เพื่อเป็นศาลาทรงธรรมหรือสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐานตามที่สมเด็จพระรูปฯทรงพระศรัทธา  ตามพระราชอัธยาศัยในสมัยที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่   จึงเรียกกันว่า ศาลาทรงธรรม ต่อมา 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปราค์สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของพระบรมราชบิดา  ก็คงสร้างลงตรงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ อันเป็นสถานที่่ประสูติของสมเด็จพระราชบิดา  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และพร้อมกันนั้นก็คงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารและพระที่นั่งทรงธรรมไว้ สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปนั้นด้วย  ถ้าจะสงสัยว่าเหตุใดไม่โปรดให้บรรจุไว้ในพระปรางค์ด้วย  ก็ต้องสันนิษฐานโดยตรัสรู้เอาเองว่า  โดยคติโบราณราชประเพณีนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงพระเกียรติยศสูงสุดในแผ่นดิน เป็นที่ล้นที่พ้น ไม่อาจจะจัดให้ผู้ใดมีพระเกียรติยศเทียมเท่าหรือเคียงคู่ได้  แม้พระราชมารดาหรือพระมเหสี  หรือว่าพระราชบิดาทีมิได้บรมราชาภิเศกเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระเกียรติยศเท่ากันก็เทียบเท่ามิได้  ในงานพระราชพิธีหรืองานแสดงพระเกียรติยศใดๆ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสูงสุดเสมอ 
การบรรจุพระอังคารธาตุจึงต้องบรรจุพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ในพระปรางค์   และบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรม 
อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานเอาเองของผู้เขียน  ขอท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา จะเห็นด้วยหรือไม่ก็โปรดวินิจฉัยเอาด้วยปัญญาตามญาณและหลักฐานที่มีดีกว่านี้ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น