วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๓)

ตอนที่ ๓

การเสด็จประพาสต้นทอดพระเนตรเมืองสมุทรสงครามและวัดอัมพวันเจติยารามในคร้ังสุดท้ายนี้  ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รับสั่งเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างน่าอ่าน  ตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงวัดอัมพวันเจติยาราม และเมืองสมุทรสงครามไว้ดังนี้:-

"วันที่ ๙ กันยายน ระยะทางวันนี้สั้น ออกเรือสายล่องลงมาถึงหน้าที่ว่าการเมืองสมุทรสงคราม  พักทีแพตามเคย แล้วได้ลงเรือยนต์ออกไปดูที่ปากอ่าว  แล้วแล่นกลับขึ้นมาเข้าไปดูคลองสุนัขหอนหน่อยหนึ่ง  แล้วกลับแล่นขึ้นไปอัมพวา  แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการนายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน  แล้วล่องกลับไปเข้าคลองอัมพวา  ประสงค์จะไปให้จนถึงวัดดาวโด่ง  แต่เห็นคลองดาวโด่งแคบลงทุกทีกลัวจักกลับเรือไม่ได้ จึงได้ล่องกลับออกมาทางเดิม แวะกินน้ำชาที่บ้านชายบริพัตร (สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)  ซึ่งตั้งอยู่ในคลองอัมพวาไมลึกเท่าใด แล้วจึงได้กลับมาเรือ  วันนี้มียุงแต่ยังน้อยกว่ากรุงเทพฯ
วันที่ ๑๐ กันยายน ลงเรือไปขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม  พวกราชินิกุลมาคอยเฝ้าในที่นี้  วัดนี้ได้ลงมือปฎิสังขรณ์บ้างตั้งแต่มาคราวก่อน ไมใคร่กระเตื้องขึ้นได้ เหตุด้วยใหญ่โตมาก ไม่มีสมภารดีๆเหลือแต่พระอนุจรอยู่ ๖ รูป  เสนาสนะทรุดโทรมทั่วไปทุกแห่ง การปฎิสังขรณ์ทำแต่เฉพาะพระอุโบสถ  แต่คราวนี้เขาได้ถางที่ทั่วถึงแลเห็นขอบเขตวัด  ซึ่งน่าจะมีราษฎรลุกเหลื่อมเข้ามาเสียมากแล้ว จนที่คอดๆกิ่วๆ  ไม่เป็นเหลี่ยม  แต่กระนั้นก็ยังใหญ่โตมาก  เห็นว่าการซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จรพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด จะไม่ใช่แต่เจ้าของเดียว  จะพลอยศรัทธาตามเสด็จสมเด็จพระอมรินทร์ไปด้วยอีกมากเจ้าของด้วยกัน
 สิ่งปลูกสร้างจึงเที่ยวรายอยู่ในที่ต่างๆทั่วไป  น่าจะเป็นว่าเดิมที่สำคัญตั้งพระอุโบสถขึ้นแล้ว  ที่ใครมีอยู่ใกล้เคียงถวายเพิ่มเข้าอยู่ในวัด  สร้างเป็นกุฎิบ้าง ศาลาบ้าง วิหารการเปรียญบ้าง รายกันไป  ไม่ได้คิดวางแผนที่ในคร้ังเดียว มีจนกระทั่งยอดหลังคามุงกระเบื้องขนาดใหญ่  แต่อายุของงานที่ทำหรือปฎิสังขรณ์ย่อมต่างๆกัน  ทรวงทรงพระอุโบสถเป็นอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เทือกวัดสุวรรณดาราราม  แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ แต่เดี๋่ยวนี้ผิดพระเศียร น่าจะมีเหตแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า  พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวกว่าพระสาวกไปด้วย ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ทรงสร้าง พระวิหารและกุฎิใหญ๋เป็นฝีมือรัชกาลที่ ๓   พระปรางค์มีระเบียงล้อม  รูปบานบนซึ่งแปลกไม่มีที่ไหนโตเท่านี้ ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔,๐๐๐ บาท  และเรี่ยไรได้บ้าง  เห็นว่าวัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิดจะให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม  จึงได้ทรงบางอย่างทุกๆรัชกาลมา  จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร  ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อน่มาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น  เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่  การที่ไม่ยอมไปอยู่น้ันเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล  ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย  ซึ่งได้ประโยชน์ในทางขลังต่างๆ  แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนี้  จนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญเสียที่วัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่น นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้


กลับจากวัดไปทำครัวเลี้ยงกลางวันกันที่บ้านชายบริพัตร  บ้านนี้ทำเป็นเรือนอย่างไทย สองหลังแฝด  และหอนั่งใหญ่มีชานแล่นตลอดเป็นที่สบายอย่างไทย  ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์ไทยๆงามดี  เลี้ยงกันแล้วได้ลงเรือพายไปตามคลองอัมพวา  แวะวัดดาวดึงส์ที่เคยพักกินข้าวแต่ก่อน  แล้วเข้าคลองดาวโด่งไป จนถึงวัดดาวโด่ง  แวะที่วัดซึ่งได้เคยดูบวชนาคแต่ก่อน  คิดจะไปบางใหญ่แต่เห็นจะไม่ทันด้วยเย็นเสียแล้ว  จึงได้เลี้ยวลงทางคลองขวางไปออกคลองสุนัขหอน  แล้วกลับเข้าคลองลัดจวนขึ้นมาออกปากคลองเหนือที่ว่าการ

เมืองสมุทรสงครามนี้  ท่วงทีภูมิฐานเหมือนอย่างกรุงเทพฯ  ฝั่งตะวันตกแถบคลองบางใหญ่  บางคูเวียง  มีทางทีจะเที่ยวซอกแซกได้มาก ถ้าจะลงเรือเล็กไปเที่ยวจะไปได้หลายวัน  คนในพื้นเมืองมีความนิยมนับเจ้านาย  และไว้ตัวเป็นที่สนิทสนมทั่วไป..."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น