พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ หลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ ๕ ปี ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาอีกนาน สวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๕๒ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึงพ.ศ. ๒๓๖๙ จึงสวรรคต ทั้งสองพระองค์นี้เป็นพระอัยกา อัยกีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๓๖๗ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๓ ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๗๙ นอกนั้นเจ้าคุณพระอัยยิกาในราชินิกุลบางช้างก็ยังมีชีวิตอยู่หลายท่าน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังคือ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ยังได้ทันทรงพบพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่เกือบหมดทุกพระองค์ ดังได้ทรงรับสั่งเล่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "เมื่อหน้าสงกรานต์ ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันท้ังหมด เจ้านายที่เป็นหลานๆได้พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำด้วย แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายๆเหมือนกัน เป็นการประหลาดจึงรับสั่งถามว่า ทำไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายหมดเช่นนี้ คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย" นี่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปียังทรงได้พบพระประยูรญาติทางฝ่ายราชินิกุลบางช้าง รวมท้ังสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าโดยตรงด้วย ฉนั้นการที่เราจะนึกเอาเองว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ทรงทราบว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าแท้ๆของพระองค์ว่าอยู่ตรงไหน และจะไม่ทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชบิดาของพระองค์ว่าประสูติที่ตำหนักไหน ตรงไหนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยสามัญสำนึกแล้วสมเด็จย่าจะต้องทูลเล่าให้ "หลานย่า"ฟังบ้างเป็นแน่ว่า สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหนเช่นนี้แล้ว การสร้างพระปรางค์สำหรับบรรจุพระสรีรังคารธาตุของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงจำเป็นจะต้องเจาะจงสร้างลงตรงสถานที่ประสูติของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเอง โดยสามัญสำนึกแล้วไม่ควรสร้างที่อื่น
ที่มีกล่าวแย้งไว้ในที่บางแห่งว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์หลบภัยพม่าข้าศึก ไปในสุมทุมพุ่มไม้รกชัฎ ณ หลังวัดจุฬามณี แล้วทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ สถานที่นั้น ดูออกจะเป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที ทำนองจะเกณฑ์ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไปประสูติเสียในป่าให้ได้ แต่ยังมีแถมท้ายว่าสถานที่ประสูตินั้นเรียกว่า "วังต้นจันทน์" ทำเป็นที่จะชักนิยายเข้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นรัง แล้วก็จะเกณฑ์ให้พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเสียใต้ต้นจันทน์ฉนั้น จะเห็นว่าชื่อ "พุทธ-พุทธ" เหมือนกันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติที่ใต้ต้นจันทน์จริง ก็ไม่เห็นจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศที่ตรงไหน
แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น