วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๔)



พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๔

ปัญหาที่ว่าวัดอัมพวันเจติยารามสร้างเมื่อไร ใครสร้างแน่  สมเด็จพระรูปฯ หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  เราจะเชื่อตามคำเขาเล่าว่า "จระเข้มาที่ท่าน้ำ"  ก็เป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที เข้าทำนอง  "พระอินทร์มาเขียวๆ ไม่เชื่อเลย"  จำเป็นจะต้องยึดหลักฐานจากที่ท่านจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน



หลักฐานจากที่มีอยู่ในบัดนี้ก็มีเพียงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่พบหลักฐานที่เก่าขึ้นไปกว่านี้เลย  แต่หลักฐานที่ขนาดของเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้มานั้นย่อมจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้  ท่านเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่กับวัดวาอารามมาก มีบริวารมาก รู้จักคนมากทั้งพระภิกษุผู้ใหญ่และเจ้านายผู้มีอาวุโสสูง  ตัวท่านเองก็สืบสายตระกูลมาแต่ราชวงศ์จักรี  ่ย่อมมีทางที่จะสืบสวนข้อเท็จจริงในทางพระราชพงศาวดารและโบราณคดีได้โดยง่าย เราไม่เชื่อท่านก็ไม่ทราบว่าจะไปเชื่อใคร ตำนานวัดหลวงที่ท่านเรียบเรียงไว้ ๑๑๕ วัด ก็ล้วนมีข้อความถูกต้องตามประวัติที่ทราบกันอยู่ทั่วไปทั้งสิ้น  เราจะไม่เชื่อเฉพาะที่กล่าวถึงวัดอัมพวันก็ดูกระไรอยู่  นอกจากนั้นท่านยังได้ทูลเกล้าฯถวายในหลวงรัชกาลที ๕ ทรงตรวจด้วย

พูดถึงพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น  โลกยกย่องพระเกียรติยศว่า ทรงเป็นอัจฉริยมหาบุรุษ ทรงฉลาดรอบรู้อย่างลึกซึ้งในคดีโลกคดีธรรม  ทรงสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง  ทรงมีญาณพิเศษสามารถวินิจฉัยเหตุผลต้นปลาย  ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ทุกสิ่งทุกอย่าง  ยากที่จะหาบุคคลใดเทียบได้  เพราะฉนั้นพระราชหัตถเลขารับสั่งเล่าเรื่องวัดอัมพวันเจติยาราม  ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องควรพิจารณาโดยถี่ถ้วน จะทำให้แลเห็นประวัติความเป็นมาของวัดนี้แจ่มชัดขึ้น จะได้ยกมากล่าวใหม่ให้เห็นเป็นตอนๆ

"การซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด..."

 ความตอนนี้หมายความว่า  สวนเดิมของสมเด็จพระรูปฯนั้น รวมอยู่ในวัดวัดนี้  คำว่า สวนเดิม นั้น  ย่่อมหมายรวมถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯด้วย  นอกจากนั้นยังทรงหมายถึงว่า จะไม่ใช่เจ้าของเดียวเท่านั้น  ยังอาจมีของบรรดาโอรสธิดารวมอยู่อีกส่วนด้วย

"น่าจะเป็นว่าที่เดิมที่สำคัญต้ังพระอุโบสถขึ้นแล้ว..."   คำว่าที่เดิมที่สำคัญ นั้นน่าจะทรงหมายพระทัยถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ  ตั้งอยู่ตรงที่ตั้งพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ พระอุโบสถนั้นเป็นหลักสำคัญของวัด  เป็นที่นิมิตหมายเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์  เป็นที่สวดญัติจุตตถกรรม เป็นที่สวดพระโอวาทปาฎิโมกข์  โบราณย่อมจะถึอว่เป็นที่รองรับศิริมงคลอันสูงสุด  การอุทิศที่ให้สร้างพระอุโบสถลงตรงที่ตำหนักเดิมจึงเท่ากับอุทิศถวายที่น้ันแด่พระพุทธเจ้าโดยตรง  และถือว่าไม่มีผู้ใดจะมารื้อถอนขับไล่ไปได้อีก  ทั้งยังถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตนและวงศ์ตระกูลต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์ด้วย  เหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ นั้นอยู่ตรงที่สร้างพระอุโบสถเดี๋ยวนี้




"ทรวงทรงพระอุโบสถ  เป็นแบบอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าเทือกวัดสุวรรณดาราราม..."  ความตอนนี้หมายความว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพราะฝืมือการช่างเหมือนกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

"แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ  แต่เดี๋ยวนี้ผิดพระเศียร  น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า..."
 ความตอนนี้เท่ากับพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระประธานน้ันซ่อมหรือสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๒ เพราะตามประวัติวัดอรุณราชวรารามนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระอุโบสถหลังเก่า  แล้วยังเรียกชื่อว่า วัดแจ้งอยู่ตามเดิม  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า  วัดอรุณราชวราราม คงจะเป็นการสัณนิษฐานที่ไม่เหลือเกินนักที่จะลงความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะโปรดให้นำพระสรีรังคารส่วนหนึ่งของสมเด็จพระรูปฯ มาบรรจุไว้ ในองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันฯนี้  พร้อมทั้งให้ช่างปฎิสังขรณ์พระประธานเสียใหม่  แต่ฝืมือช่างที่ทำไว้ไม่เหมือนเดิม  ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า " น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไร  ซ่อมขึ้นไมเหมือนเก่า พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวไปกว่าพระสาวกด้วย"  พระประธานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ นับเวลาแต่เริ่มรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒  ก็เป็นเวลาเพียง ๒๗ ปี ถึงแม้จะนับต่อไปจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๖๗  ก็เป็นเวลาเพียง ๔๒ ปีเท่านั้น พระประธานสถิตย์อยู่ในพระอุโบสถ คุ้มแดดคุ้มลมคุ้มฝน ระยะเวลาเพียง ๔๒ ปี จะถึงแก่แตกพังเชียวหรือ

สมเด็จพระรูปฯ  นั้นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็น "หลานยาย"  คงจะได้ทรงจัดการบรรจุพระอัฐิและพระอังคารให้เรียบร้อย และหาที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าบรรจุไว้ในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งสร้างทับตรงตำหนักเก่าของท่านไว้  คือใต้ฐานพระประธานน้ันเอง  แต่ในระหว่างการเจาะฐานเพื่อบรรจุนั้นเอง ก็คงเกิดการกระทบกระเทือน ทำให้องค์พระประธานซึ่งเป็นปูนปั้นน้ันแตกร้าวชำรุดถึงพระเศียร จึงต้องทำการซ่อมใหม่  แต่ฝืมือไม่ดีเหมือนเก่าดังกล่าวแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น