วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๕)

ตอนที่ ๕

"พระวิหารและกุฎิใหญ่เป็นฝืมือรัชกาลที่ ๓"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงแน่พระทัยว่า  ฝืมือการก่อสร้างพระวิหารนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ ๓ เรื่องนี้ก็มีข้อความตรงตามประวัติที่กล่าวไว้ว่าวัดอัมพวันเจติยารามได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
"พระปรางค์มีระเบียงล้อม รูปบานบนซึ่งแปลก ไม่มีที่ไหนโตเท่านี้"




พระวิหารวัดอัมพวันเจติยาราม






        ข้อความตอนนี้ทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อเนื่องมาจากเรื่องพระวิหารที่ว่าเป็นฝืมือช่างในรัชกาลที่ ๓  ก็ทำให้เข้าใจว่าทรงวินิจฉัยว่า  พระปรางค์นี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และสร้างในคราวบูรณปฎิสังขรณ์คร้ังใหญ่น้ันเอง  เมื่อตรวจดูตามตำนานวัดหลวง ๑๑๕ วัด  ก็มีพระปรางค์อยู่เพียง ๓ วัด  คือ  พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)  พระปรางค์วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  และโลหปราสาทวัดราชนัดดาราม  ซึ่งล้วนแต่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างหรือบูรณปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นทั้งสิ้น ในรัชกาลอื่นก่อนหรือหลังไม่ปรากฎว่ามีการสร้างพระปรางค์ในวัดไหนเลย  รัชกาลที่๓ นั้นโปรดการสร้างวัดวาอารามและวัตถุในพระพุทธศาสนา จนมีคำกล่าวกันว่า  รัชกาลที่ ๑นั้นใครรบเก่งก็โปรด  รัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็โปรด  รัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดก็โปรด  รัชกาลที่ ๔ ใครรู้ภาษาอังกฤษก็โปรด  ดังนี้เป็นต้น  พระปรางค์วัดอัมพวันเจติยารามนี้ ก็เชื่อได้สนิทใจว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้เช่นนี้  แม้ข้อความจะไม่แจ่มแจ้งเจาะจงลงไปโดยเฉพาะก็ตาม  
"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓นั้นทรงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗  และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔"  การสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ก็จะตกอยู่ในระหว่างนี้ แต่น่าจะเป็นสมัยตอนต้นรัชกาล คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๑  หลังจากหมดเรื่องยุ่งทางด้านเวียงจันทน์  เพราะปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๘  และหมดเรืองยุ่งทางด้านพม่า  เพราะสิงโตอังกฤษเข้าไปเดินหางอาละวาดอยู่ในกรุงย่างกุ้งแล้ว  และเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระบรมชนกนาถและสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าด้วย  กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๗  และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๙  การที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรรคตในเวลาไร่เรื่ยกันนี้ ย่อมเป็นระยะเวลาที่จะทรงบำเพ็ฺญพระราชกุศลถวาย การสร้างวัด การบูรณปฎิสังขรณ์วัดวาอารามของพระองค์จึงมีขึ้นในระยะนี้  และวัดที่จะทรงระลึกถึงก่อนวัดอื่นก็คือวัดอัมพวันเจติยาราม เพราะเหตุผลที่ว่าวัดนี้เป็นวัดราชินิกุลสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือจะพูดตรงๆ ว่าเป็นวัดของสมเด็จพระอัยกีของพระองค์โดยตรงก็ว่าได้  นอกนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ก็ทรงพระราชสมภพ ณ. ที่นั้นด้วย  พระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๖๘   และพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ถวายพระเพลิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  การสร้างพระปรางค์  พระวิหารก็อยู่ในระยะนี้เอง 



                               


                                      (โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น