ตอนที่ ๖
คติการสร้างพระปรางค์ ปราสาทและพระสถูปเจดีย์น้ันย่อมมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือเป็นที่เคารพสักการะบูชา คติในทางศาสนาพราหมณ์สร้างพระปรางค์ไว้เพื่อเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า คือ พระพรหม พระอิศวร และ พระนารายณ์ เช่น พระปรางค์ ๓ ยอด ลพบุรี เป็นต้น แต่ต่อมาภายหลัง ถือคติว่า พระมหากษัตราธิราชเจานั้นเป็นสมมุติเทพเทียบพระผู้เป็นเจ้าด้วย จึงนิยมสร้างปราสาทเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระบรมมหากษัตริย์ด้วย เช่นปราสาทนครวัดเป็นที่บรรจุพระบรมศพของกษัตริย์ขอมเป็นต้น ส่วนคติทางพระพุทธศาสนานั้นนิยมสร้างพระสถูปเจดีย์เป็นทีบรรจุพระอังคารธาตุ เช่น สร้างพระสถูปเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น การสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ จึงปรากฎเป็นความนิยมแพร่หลายในประเทศทีนับถือพระพุทธศาสนา อย่างในประเทศพม่า ก็ว่าเต็มไปด้วยเจดีย์ ในเมืองไทยนี้ตามวัดวาอารามแลสลอนไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่ หรืออย่างที่นายนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์) พรรณาไว้ในนิราศนรินทร์ว่า "เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด..." คติในทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมสร้างพระเจดีย์เป็นพื้น การสร้างพระปรางค์เพิ่งจะมาเกิดมีขึ่้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับจะทรงพระราชดำริเป็นสามัญสำนึกว่า พระบรมธาตุพระอัฐิธาตุทั้งหลายนั้น แท้จริงก็มีพระวิญญาณธาตุของท่านเจ้าของสถิตอยู่ จนกว่าจะต้องถึงคราวต้องจุติปฎิสนธิในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป จึงควรสร้างเป็นพระปรางค์ ให้เป็นที่สิงสถิตของพระวิญญาณให้สวยงาม เป็นที่เกษมสำราญตามสมควรแก่พระเกียรติยศ เมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้อยู่ปราสาทราชวังสวยงาม มีความเกษมสำราญ เมื่อสวรรคตแล้ว ก็ควรให้พระวิญญาณได้สถิตในปรางค์ปราสาทให้สวยงามเกษมสำราญปานกัน ดังเช่นคติในทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานก็ยังมีการสร้างเรือแพนาวา บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ แม้กระทั่งกระดาษเงินกระดาษทองเผาส่งไปให้ใช้ในเมืองสวรรค์ เช่นที่พวกจีนกระทำอยู่ คติความเชื่อถืออันนี้ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจากคติทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการระลึกชาติได้ และเรื่องชาติใหม่ภพใหม่แต่ประการใดไม่ ยังคงเป็นความเชื่อของคนไทยส่วนมากอยู่ทุกวันนี้ว่า ตายแล้ววิญญาณล่องลอยไป รับทุกข์รับสุขตามผลกรรมที่ทำมา จนกว่าจะถึงคราวจุติปฎิสนธิใหม่ แม้คตินี้จะใช่หรือมิใช่คติทางพระพุทธศาสนาโดยแท้จริงหรือไม่ก็ตาม เราก็ห้ามความเชื่อถืออันนี้ของคนไม่ได้ และถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจะเชื่อของท่านเช่นนี้บ้างก็เป็นพระราชศรัทธาของพระองค์ท่าน ใครจะไปว่าอะไร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่แท้ๆ ยังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพของพระองค์ว่า ให้มีพิธีสวดกงเต็กให้ด้วย คนเรานั้นพอถึงคราวเกี่ยวกับการเป็นการตายขึ้นมาแล้ว ถือเอาความเชื่อเป็นเกณฑ์ด้วยกันทั้งนั้น ฉนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้นย่อมเป็นไปได้ ข้อสำคัญก็คือคงมิได้สร้างขึ้นเพียงประดับวัดโก้ๆเท่านั้นแน่นอน แต่ทรงสร้างขึ้นเพื่ออะไรนั้น ขอให้เราพิจารณากันต่อไปถึงประวัติการสร้างพระปรางค์ที่วัดอื่นๆก่อน
"วัดอรุณราชวราราม เดิมชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ทรงปฎิสังขรณ์พระอุโบสถเก่า ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณธาราม ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นวัดอรุณราชวราราม ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์เป็นยอดมงกุฎ และปฎิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม...."
"วัดราชบูรณะ เดิมชื่อวัดเลียบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (เจ้าฟ้าต้น ต้นตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา) ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงช่วยและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบูรณะ รัชกาลที่๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้ถอนสีมาเก่าแล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น