ดังได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นว่า วัดสุวรรณดาราราม เป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระบรรพบุรุษต้นบรมราชวงศ์จักรีเป็นผู้ทรงสร้าง คือสมเด็จปฐมบรมไปยิกาธิบดี(ทองดี) และพระอัครชายา(ดาวเรือง) ซึ่งเป็นพระชนกชนนีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสวยราชย์แล้ว ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ร่วมกับพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมชื่อว่า วัดทอง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุวรรณดาราราม" โดยนำเอาพระนามเดิมของพระชนกชนนีมาผสมกันเป็ฺนนามวัด คือ สุวรรณ(ทองดี) และดารา(ดาวเรือง) จึงเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จะต้องบูรณะปฎิสังขรณ์และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินที่วัดนี้
ส่วนวัดอัมพวันเจติยารามก็เป็นวัดหลวง ซึ่งบรรพบุรษต้นวงศ์ราชินิกุลของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง พูดด้วยภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆก็คือ วัดสุวรรณดารามเป็นวัดหลวงฝ่ายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และวัดอัมพวันเจติยารามเป็นวัดหลวงฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินี
รัชกาลที่ ๕จึงทรงรับสั่งว่า "วัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิดเป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม" ดังกล่าวแล้ว จึงถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี จะทรงบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยารามตลอดมาทุกรัชกาล รัชกาลที่ ๕เสด็จมาในคร้ังน้ันก็ได้พระราชทานเงินบูรณะซ่อมแซมด้วย ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาว่า "ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔๐๐๐ บาท และเรี่ยไรได้บ้าง..." เงินสมัยนั้นแพงมีค่าประมาณ ๕๐ เท่าของสมัยปัจจุบัน ก็ราว ๒๐๐,๐๐๐ บาทของสมัยนี้ และที่ว่าเรี่ยไรได้บ้างนั้น ก็คือเรี่ยไรพระบรมวงศานุวงและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จนั่นเอง รับสั่งต่อไปว่า " จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร..."
พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จคร้ังก่อนและครั้งสุดท้าย ประกอบด้วย
๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
๒. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
ในพระนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้น ไม่ปรากฎพระนามว่าตามเสด็จ แต่ปรากฎจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีถึงพระครูมหาสิทธิการ(แดง) ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๔ ว่า "เมื่อปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในขบวนหลวง..." แสดงว่าเสด็จด้วย
๓.กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นกัปตันเรือถือท้ายเรือพระที่นั่ง
๔.สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
๕.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
๖.สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ
๗.สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
๘.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
๙. กรมพระสมมุติอมรพันธ์ุ
๑๐. กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ
๑๑.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา
๑๒.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์
๑๓.กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
๑๔.กรมขุนสีหวิกรมเกรียงไกร
๑๕.กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
๑๖.กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์
๑๗.เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
๑๘.พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (แฉ บุนนาค) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี
๑๙.พระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม
๒๐.พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)
๒๑.พระยานิพัทธราชกิจ( อ้น นรพัลลภ)
๒๒.พระยาสุรินทร์ฤาชัย (เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
ส่วนพระยาศิริไชยบุรินทร์ (สุข โชติเสถียร) ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี และพระยาประสิทธิสงคราม (นุช มหานีรานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี จะได้ตามเสด็จมาในขบวนด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ แต่มีกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขานั้น เจ้านายที่ได้กล่าวพระนามและกล่าวนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่ได้เคยเสด็จทอดพระเนตรและชมวัดอัมพวันเจติยารามมาแล้วท้ังสิ้น
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ และวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาตรวจการณ์คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม ก็ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามด้วย ปรากฎว่าพระครูมหาสิทธิการ(ถมยา) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ และเจ้าคณะแขวงอัมพวา ได้ตามเสด็จไปตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดนี้หลายแห่ง
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น