เมื่อได้สันนิษฐานมาถึงขั้นนี้ ก็จะแลเห็นว่าปูชนียสถานทั้ง ๓ แห่งในวัดอัมพวันเจติยารามนี้ ท่านสร้างไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาถึง ๓ นัยดังนี้
นัยที่หนึ่ง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าหลักไตรสิกขาในธรรมะของพระพุทธศาสนา กล่าวคือพระอุโบสถเป็นที่อุปสมบทของกุลบุตรเพื่อรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อพระภิกษุสงฆ์ได้ฟังพระโอวาทปาฎิโมกข์ให้สังวรระวังในศีล พระอุโบสถจึงหมายถึงศีลและการรักษาศีล พระที่นั่งทรงธรรมนั้นเป็นที่เจริญภาวนาให้เกิดสมาธิ พระที่นั่งทรงธรรมจึงหมายถึงสมาธิ พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง มีระเบียงล้อมรอบอันหมายถึงกาย ตัวองค์พระปรางค์นั้นหมายถึงจิตใจอันได้แก่ดวงปัญญา คือเมื่อรักษาศึลแล้วก็เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็เกิดปัญญา พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งศีล พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งสมาธิ พระปรางค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา รวมเป็นไตรสิกขา
นัยที่สอง คือหัวใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละชั่ว ประพฤติดี และมีจิตใสบริสุทธิ์สะอาด พระอุโบสถเป็นทีรักษาศีล ไม่ปฎิบัตในข้อที่ห้าม เท่ากับละชั่ว พระที่นั่งทรงธรรมนั้นคือที่ฟังธรรมเจริญภาวนา เท่ากับประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการละชั่ว พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการประพฤติดี พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง ย่อมเปรียบได้กับจิตใจทีใฝ่ดีย่อมพ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำมาย่ำยี มีพระระเบียงล้อมรอบ เปรียบเหมือนมีกำแพงแก้วคอยป้องกันทั้ง ๔ ทิศ มิให้หัวใจแส่ส่ายไปหาเครื่องเศร้าหมอง ได้แก่บาปอกุศล ที่ระเบียงนั้นมีพระพุทธรูปตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่ทั้ง ๔ ทิศ ๘ทิศ ๑๖ ทิศ นั้นหมายถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหมวดต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ถ้าประพฤติปฎิบัตตามแล้ว พระธรรมเหล่านั้นย่อมจะป้องกันผองภัยอันตรายต่างๆได้ทั้งสิ้น
นัยที่สาม คือ พระอุโบสถ หมายถึงสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี ซึ่งพระองค์ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ เท่ากับว่าพระองค์ละบาปละชั่วแล้วในชาตินี้ภพนี้ พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ละชั่ว พระอังคารธาตุของพระองค์อยู่ในพระอุโบสถนั้น คือที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถ จึงนับเป็นที่ปลงธรรมสังเวชได้แห่งหนึ่ง พระที่นั่งทรงธรรมนั้นหมายถึงสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เพราะระยะเวลาตลอดพระชนม์ชีพนอกจากมิได้ทรงประกอบกรรมทำชั่วแล้ว ยังทรงบำเพ็ญแต่บุญกุศล พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ประพฤติชอบ พระอังคารธาตุของพระองค์บรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรมนั้น พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นสถานทีควรแก่การปลงธรรมสังขารได้แห่งหนึ่ง พระปรางค์นั้นหมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงเป็นพระบรมโพธิสมภาร เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ยากไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ ทรงเป็นหลักของแผ่นดิน ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความยุติธรรม ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระปัญญาธิคุณ ทรงสอดส่องทุกข์สุขของสมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเป็นสมมุติเทพผู้บริสุทธิ์ พระคุณลักษณะของพระองค์ จึงประมวลลงเปรียบประดุจพระปรางค์อันมีลักษณะสูงส่งสง่าสวยงาม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิ์คุณ เทียบด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคติทางพระพุทธศาสนาถึอว่า พระมหากษัตราธิราชเจ้านั้นมีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระพุทธเจ้า ทั้งในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิธาตุไว้สักการบูชาของมหาชน และพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็บรรจุไว้ในพระปรางค์นั้นด้วย พระปรางค์ที่วัดอัมพวันเจติยารามจึงเป็นสังเวชนียสถานอันควรปลงธรรมสังเวชแห่งหนึ่ง
(โปรดติดตามตอนต่อไป) |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น