จะเห็นว่าคนโบราณท่านมักทำอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาเช่นนี้เสมอ เช่นจะสอนอะไรท่านก็ไม่ได้สอนตรงๆ แต่มักจะกล่าวไว้เป็นเชิงสุภาษิตหรือคำพังเพยให้คิดเป็นปริศนาเล่น เช่น "พระนิพานนั้นหรือ ก็คือ ไม่หนี ไม่สู้ ไม่อยู่ ไม่ไปนั่นเอง" หรือเช่นว่า "บ่ออะไรเล่าจะลึก ศึกอะไรเล่าจะยาก จากอะไรเล่าจะ
เข็ญ เห็นอะไรเล่าจะน่ากลัว กลัวอะไรเล่า จะต้องกล้าสู้..."
หรือแม้แต่ในตำรับพิชัยสงคราม ท่านกล่าวถึงกลศึกไว้ ๒๑ กล เพียงแต่ชื่อกลก็ยังเป็นคำซ่อนเงื่อนให้เราแก้เสียแล้ว เช่น"หนึ่งชื่อว่ากลฤทธิ์ สองชื่อว่ากลสีหจักร สามชื่อว่ากลวลักษณ์ซ่อนเงื่อน สี่ชื่อว่ากลเถื่อนกำบัง ห้าชื่อว่ากลพังภูผา หกชื่อว่ากลม้ากินสวน เจ็ดชื่อว่ากลพวนเรือโยง แปดชื่อว่ากลโพงน้ำบ่อ เก้าชื่อว่ากลล่อช้างป่า สิบชื่อว่ากลม้าดำดิน สิบเอ็ดชื่อว่ากลอินทร์พิมาน สิบสองชื่อว่ากลผลาญศัตรู สิบสามชื่อว่ากลชูพิษแสลง สิบสี่ชื่อว่ากลแข็งให้อ่อน สิบห้าชื่อว่ากลย้อนภูเขา สิบหกชื่อว่ากลกลเย้าให้ผอม สิบเจ็ดชื่อว่ากลจอมปราสาท สิบแปดชื่อว่ากลราชปัญญา สิบเก้าชื่อว่ากลฟ้าสนั่นเมือง ยี่สิบชื่อว่ากลเรียงหลักยืน ยี่สิบเอ็ดชื่อว่ากลปืนพระราม..." เช่นนี้ก็เป็นตัวอย่าง
การที่ท่านสร้างพระอุโบสถ พระที่นั่งทรงธรรม และพระปรางค์ไว้ที่วัดอัมพวันเจติยารามนั้น ก็เป็นปริศนาข้อใหญ่ ผู้ใดสนใจใคร่จะลองปัญญาก็โปรดตีปัญหาดู ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะผิดถูกประการใด นี่ก็ลองนึกดูตามที่คิดเห็นเอาเองเท่านั้น
วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมมีชื่อว่า วัดอัมพวา ตามชื่อตำบลบ้าน หรือเรียกที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปว่า "อัมพวาสวนนอก" ภายหลังต่อมาท่านนักปราชญ์ผู้เฟื่องฟูทางภาษาบาลี ท่านเลยแปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลีเสียเลยว่า "อัมพวาพาหิรุทยานประเทศ" ชื่อวัดอัมพวันเจติยารามนี้เข้าใจว่าจะเป็นชื่อพระราชทานในสมัยบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ นี้เอง เพราะคำว่า "เจติยาราม" ทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลังที่สร้างพระปรางค์แล้ว ชือ่"อัมพวันเจติยาราม" ก็เป็นชื่อที่มีความหมายไพเราะเหมาะสม กล่าวคือ "อัมพวัน" โดยพยัญชนะก็แปลว่า "สวนมะม่วง" โดยความหมายก็หมายถึง"อัมพวาสวนนอก" และต้นมะม่วงยังเป็นต้นไม้เกี่ยวเนื่องอยู่ในพุทธประวัติด้วย "เจติย" โดยความหมายก็แปลว่า"ที่เคารพบูชา" และ "อาราม" หมายความว่า "ที่อยู่อันร่มรื่นเกษมสำราญ"
ชื่อ "วัดอัมพวันเจติยาราม" จึงมีความหมายว่า "สวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญเป็นสถานที่เคารพบูชา" แสดงอยู่ว่า ผู้ที่คิดต้ังชื่อนี้เป็นบุคคลชั้นสูงซึ่งมีความรู้ดีทั้งในทางภาษา ทางศาสนา และประวัติของวัดนี้ด้วย จึงจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นพระราชทาน แต่จะเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีก คือวัดนี้มีชื่อเดิมอยู่แล้ว ใครๆก็รู้ดีว่าเป็นวัดหลวง เจ้าอาวาสหรือเจ้าบ้านเจ้าเมือง ก็คงไม่บังอาจมาเปลี่ยนชื่อวัดนี้ใหม่ตามใจชอบ ถึงเปลี่ยนก็ไม่เป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ที่มหาชนนิยมเรียกตาม จะเห็นได้ว่าวัดราษฎร์ที่ตั้งชื่อเปลี่ยนชื่อกันเสียเพราะพริ้ง เขียนป้ายไว้เสียสวยงาม แต่ไม่มีใครนิยมเรียกตาม
ขอให้เรามาพิจารณาข้อความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องประวัติวัดอัมพวันเจติยารามต่อไป
"ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง...." ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย เสมาทำช้อนไว้เป็นเสมาคู่เช่นน้ัน เป็นคตินิยมมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หมายความว่าพระอุโบสถนี้ได้รับการบูรณะซ้อมแซมและผูกพัทธสีมาขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง
"เห็นว่าวัดอัมพวันนี้ คงจะได้คิดให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งได้ทรงสร้างบางอย่างทุกรัชกาลมา...."
(โปรดติดตามตอนต่อไป) |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น