วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๐)



เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น เป็นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พม่าก็กวาดต้อนครอบครัวไทยกลับไปทางเหนือเมืองอุทัยธานีทางหนึ่ง  ทางเมืองกาญจนบุรีทางหนึ่ง  กองทัพที่มอบให้นายทองอินทร์เป็นสุกี้พระนายกองคุมอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ตำบลบางกอกน้อยนั้นมีอยู่ไม่มาก ถูกพระเจ้าตากตีแตกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๐ นั้นเอง  ในระยะเวลานี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังไม่ประสูติ  จนพม่าถูกตีแตกหมดเมืองไทยไปแล้วถึง ๓ เดือนเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ ถ้านับเดือนขึ้นปีใหม่อย่างในปัจจุบันนี้  ก็จะเป็นพ.ศ.๒๓๑๑  เหตุใดจึงยังต้องหลบภัยพม่าไปประสูติในสุมทุมพุ่มพฤกษาที่หลังวัดจุฬามณีอีกเล่า  และกล่าวถึงวังต้นจันทน์เป็นที่ประสูติ ก็เวลานั้นยังเป็นสามัญชนอยู่ท้ัง ๓  พระองค์ ทั้งพระราชบิดา พระราชมารดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย   ไฉนที่ประสูติชั่วคราวในป่านั้นจึงกลายเป็นวังไปด้วยเล่า
ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสุติที่ในป่าหลังวัดจุฬามณีจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องผจญภัยอันสนุกซึ่งสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  จะต้องทรงรับสั่งเล่าให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบบ้าง   เพราะเป็นเรื่องประกอบบุญฤทธิ์กฤษดาภินิหารอันมหัศจรรย์  ที่รอดพ้นจากภัยพม่าข้าศึกมาได้จนได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมจะทรงทราบ และคงจะได้สร้างพระปรางค์  พระเจดีย์อะไรไว้ทีวัดจุฬามณีเป็นอนุสาวรีย์สถานที่ประสูติของพระบรมราชบิดาของพระองค์บ้าง 


แต่นี่ก็หามีปรากฎไม่  แท้ที่จริงวัดจุฬามณี เดิมชื่อว่าวัดเจ้าแม่ทิพย์ อาจจะเป็นวัดวงศ์ญาติต้นตระกูลสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีสร้างไว้ก็เป็นได้  เพราะคำว่า "เจ้าแม่ทิพย์" ชวนให้สันนิษฐานเช่นนั้น  พระมารดาของสมเด็จพระรูปฯ ชื่อว่า "ท่านยายเจ้าถี"  คำที่เรียกกันว่า "ท่านยายเจ้าถี"  กับคำว่า เจ้าแม่ทิพย์  อาจเป็นคำเดียวกัน คนเดียวกันก็เป็นได้ เพราะเสียงใกล้เคียงกัน อาจเรียกเพี้ยนกันมาก็ได้ และปรากฎว่าแต่ก่อนนั้นสมเด็จพระรูปฯ  และสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ  เคยเสด็จไปทรงธรรม และสมาทานศีลที่พระอุโบสถที่วัดจุฬามณี  จนกระทั่งครั้งหนึ่งไฟไหม้บ้าน บ่าวไพร่มาแจ้งข่าวไฟไหม้ แต่ท้ังสองมั่นคงในพระพุทธศาสนา  จึงมิได้ทรงหวันไหวปริวิตกแต่ประการใด  ทรงปลงตกว่าสมบัตินั้นย่อมจะวิบัติไปได้ด้วยสิ่งท้ังหลายในโลกล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ของเราของเขา  ทั้งรูปกายของเราต้องแตกสลายทำลายขันธ์ไปในที่สุดเช่นเดียวกัน  ทรงปลงเสียเช่นนี้แล้ว  ก็มีพระทัยแน่วแต่ในพระกุศล  ทรงศีลอุโบสถอยู่จนเช้าจึงเสด็จกลับ 

หมายความว่า เมื่อพระตำหนักเดิมที่หลังวัดจุฬามณีไฟไหม้หมดแล้ว  สมเด็จพระรูปฯ จึงมาสร้างพระตำหนักใหม่ที่บริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม  ภายหลังให้เป็นที่สร้างวัด ก็คงรวมทั้งที่ดินที่สวนและพระตำหนักนั้นด้วย  และรวมทั้งพระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ด้วย 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อสมัยอพยพหลบภัยพม่านั้น ทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  ผู้มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ซึ่งมีหน้าที่เทียบเท่ากับอัยการจังหวัด ผู้พิพากษาศาลจังหวัด  และผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดรวมอยู่ในตัวคนเดียวถึง ๓ หน้าทีนี้  นับว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหัวเมือง ไฉนจะจนตรอกถึงกับต้องมาอาศัยบ้านแม่ยายอยู่ คือสมเด็จพระรูปฯ นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้  คงจะได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยหลังหนึ่งต่างหาก  จึงต้องกล่าวว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นน่าจะมีอีกหลังหนึ่งต่างหาก  และเมื่อยกให้เป็นที่สร้างวัดแล้วก็คงจะยกพระตำหนักให้เป็นกุฎิด้วย  
เมื่อได้สร้างพระอุโบสถลงที่ตั้งพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ แล้ว  ตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯก็คงจะต้องรื้อ  หรือชลอมาปลูกใหม่ทางทิศตะวันตกใกล้ๆกับบริเวณพระอุโบสถ  เพื่อเป็นศาลาทรงธรรมหรือสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐานตามที่สมเด็จพระรูปฯทรงพระศรัทธา  ตามพระราชอัธยาศัยในสมัยที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่   จึงเรียกกันว่า ศาลาทรงธรรม ต่อมา 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปราค์สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของพระบรมราชบิดา  ก็คงสร้างลงตรงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ อันเป็นสถานที่่ประสูติของสมเด็จพระราชบิดา  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และพร้อมกันนั้นก็คงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารและพระที่นั่งทรงธรรมไว้ สำหรับบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปนั้นด้วย  ถ้าจะสงสัยว่าเหตุใดไม่โปรดให้บรรจุไว้ในพระปรางค์ด้วย  ก็ต้องสันนิษฐานโดยตรัสรู้เอาเองว่า  โดยคติโบราณราชประเพณีนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงพระเกียรติยศสูงสุดในแผ่นดิน เป็นที่ล้นที่พ้น ไม่อาจจะจัดให้ผู้ใดมีพระเกียรติยศเทียมเท่าหรือเคียงคู่ได้  แม้พระราชมารดาหรือพระมเหสี  หรือว่าพระราชบิดาทีมิได้บรมราชาภิเศกเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระเกียรติยศเท่ากันก็เทียบเท่ามิได้  ในงานพระราชพิธีหรืองานแสดงพระเกียรติยศใดๆ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสูงสุดเสมอ 
การบรรจุพระอังคารธาตุจึงต้องบรรจุพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ในพระปรางค์   และบรรจุพระอังคารธาตุของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรม 
อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานเอาเองของผู้เขียน  ขอท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา จะเห็นด้วยหรือไม่ก็โปรดวินิจฉัยเอาด้วยปัญญาตามญาณและหลักฐานที่มีดีกว่านี้ 


วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๙)



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐  หลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ ๕ ปี ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงพระชนม์ชีพอยู่  และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาอีกนาน สวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๕๒  สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึงพ.ศ. ๒๓๖๙ จึงสวรรคต ทั้งสองพระองค์นี้เป็นพระอัยกา อัยกีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๓๖๗   สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๓  ก็ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๗๙  นอกนั้นเจ้าคุณพระอัยยิกาในราชินิกุลบางช้างก็ยังมีชีวิตอยู่หลายท่าน  แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังคือ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗  ยังได้ทันทรงพบพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่เกือบหมดทุกพระองค์  ดังได้ทรงรับสั่งเล่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "เมื่อหน้าสงกรานต์ ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันท้ังหมด  เจ้านายที่เป็นหลานๆได้พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำด้วย  แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายๆเหมือนกัน เป็นการประหลาดจึงรับสั่งถามว่า ทำไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายหมดเช่นนี้  คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน  แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย" นี่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปียังทรงได้พบพระประยูรญาติทางฝ่ายราชินิกุลบางช้าง  รวมท้ังสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าโดยตรงด้วย
ฉนั้นการที่เราจะนึกเอาเองว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ทรงทราบว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จย่าแท้ๆของพระองค์ว่าอยู่ตรงไหน  และจะไม่ทรงทราบว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชบิดาของพระองค์ว่าประสูติที่ตำหนักไหน  ตรงไหนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้  โดยสามัญสำนึกแล้วสมเด็จย่าจะต้องทูลเล่าให้ "หลานย่า"ฟังบ้างเป็นแน่ว่า สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหน  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า  สมเด็จพระบรมราชบิดาประสูติที่ไหนเช่นนี้แล้ว  การสร้างพระปรางค์สำหรับบรรจุพระสรีรังคารธาตุของสมเด็จพระบรมชนกนาถ  จึงจำเป็นจะต้องเจาะจงสร้างลงตรงสถานที่ประสูติของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเอง  โดยสามัญสำนึกแล้วไม่ควรสร้างที่อื่น

ที่มีกล่าวแย้งไว้ในที่บางแห่งว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์หลบภัยพม่าข้าศึก  ไปในสุมทุมพุ่มไม้รกชัฎ  ณ หลังวัดจุฬามณี  แล้วทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ณ สถานที่นั้น ดูออกจะเป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที ทำนองจะเกณฑ์ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไปประสูติเสียในป่าให้ได้  แต่ยังมีแถมท้ายว่าสถานที่ประสูตินั้นเรียกว่า "วังต้นจันทน์" ทำเป็นที่จะชักนิยายเข้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นรัง  แล้วก็จะเกณฑ์ให้พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเสียใต้ต้นจันทน์ฉนั้น  จะเห็นว่าชื่อ "พุทธ-พุทธ" เหมือนกันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ  ถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติที่ใต้ต้นจันทน์จริง ก็ไม่เห็นจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศที่ตรงไหน

 แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น  

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๘)



    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ตามพระราชประวัติปรากฎว่า เป็นพระมหากษัตริย์ทีมีนิสัยถ่อมพระองค์  แม้ในพระราชพิธีถวายพระมหามงกุฎ ทรงรับมาแล้วก็มิได้ทรงสวมพระมหามงกุฎนั้น  กลับพระราชทานคืนไปยังจางวางมหาดเล็ก  แล้วรับสั่งว่า "จงเก็บไว้ให้เขาเถิด"  เพราะทรงถือว่าพระองค์มิได้เป็นเจ้าฟ้าประสูติมาภายใต้พระมหาเศวตฉัตร  พระมหาเศวตฉัตรนั้นจึงควรเป็นสิทธิของเจ้าฟ้ามงกุฎ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะได้ครองราชย์สมบัติต่อไป  พระองค์จึงมิได้ทรงพระมหามงกุฎเลยจนตลอดรัชกาล   การตั้งพระมหาอุปราชก็มิได้ทรงต้ังพระอนุชาพระองค์ใด  กลับทรงสถาปนาพระเจ้าอา  คือกรมหมื่นศักดิ์พลเสพ  พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระองค์หนึ่ง  แม้ใกล้จะเสด็จสวรรคตก็มิได้แสดงพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  กลับรับสั่งว่า "เจ้านายทีมีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ก็เป็นแต่เจ้าฟ้าใหญ่"  คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่   นอกนั้นยังทรงพระราชดำริว่า  ถ้าจะเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่บรรทมแต่เดิมมา  ก็จะเป็นที่รังเกียจแก่พระเจ้าแผ่นดินภายหน้า จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จแปรพระราชสถานมาประทับอยู่ ณ พระที่นั่งด้านทิศตะวันตก และเสด็จสวรรคต ณ ที่นั้น  นอกจากนั้นยังทรงพระราชดำริปริวิตกด้วยพระอัฐิพระอัยกา  พระอัยกี  และกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยว่าจะเป็นที่กีดขวางแก่พระเจ้าแผ่นดินต่อไป  เพราะมีกำเนิดเป็นสามัญชน  ขอให้มอบไว้แก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดก็ได้ แทนที่จะเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวัง  ดังนี้เป็นต้น  ดังนี้จึงพอเป็นเหตุผลให้แลเห็นแล้วว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอัธยาศัยเป็นประการใด  โดยเฉพาะพระราชดำริเกี่ยวกับพระอัฐิธาตุของพระราชบิดา พระราชมารดา พระอัยกา พระอัยกี   การจึงเป็นไปได้ในข้อที่ว่า  ทรงสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยารามไว้บรรจุพระอัฐิธาตุ และพระอังคารธาตุส่วนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ แตเหตุไฉนจึงไม่มีปรากฎไว้ในพงศาวดารเล่า  ก็เพราะเหตุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยเฉพาะ  และเพราะพระองค์มีพระราชอัธยาศัยถ่อมพระองค์อยู่โดยปกติดังกล่าวแล้ว

ทีนี้ก็มีปัญหาต่อไปว่า  เหตุใดจึงสร้างพระปรางค์ไว้ ณ สถานที่ตรงนั้น สถานที่น้ันเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จริงหรือ   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติ ณ สถานที่นั้นแนหรืออย่างไร ขอให้เรามาพิจารณาหาเหตุผลกันต่อไป

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๗)



พระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม


ตอนที่ ๗

ตามตำนานวัดหลวงข้างบนนั้น ปรากฎว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปรางค์ไว้เฉพาะแต่วัดที่พระบรมราชบิดาของพระองค์ทรงบูรณะและปฎิสังขรณ์ไว้เท่านั้น วัดอื่นๆมิได้ทรงสร้างพระปรางค์ไว้เลย  แม้วัดที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างหรือทรงบูรณะเองก็มิได้สร้างพระปรางค์  เช่นวัดราชนัดดาที่พระองค์ทรงสร้างพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ก็มิได้ทรงสร้างพระปรางค์ แต่สร้างพระโลหะปราสาท วัดสระเกศก็ทรงสร้างภูเขาทอง  วัดยานนาวาก็ทรงสร้างเจดีย์เป็นรูปเรือสำเภาเป็นต้น การที่เจาะจงสร้างพระปรางค์ไว้เฉพาะวัดที่พระบรมราชบิดาทรงบูรณะ  จึงทำให้เข้าใจว่าทรงสร้างพระปรางค์ไว้สำหรับเป็นที่บรรจุพระอังคารธาตุ  ของพระบรมราชบิดาของพระองค์โดยเฉพาะ





วัดหลวงอีกวัดหนึ่งทีมีพระปรางค์คือ  วัดอัมพวันเจติยาราม  วัดนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่  ณบริเวณพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์   ซึ่งเป็นสถานทีสมเด็จพระบรมราชบิดาทรงพระราชสมภพ ณ ที่นี้ด้วย จึงเป็นที่แน่นอนเหลือเกินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จะทรงพระราชดำริโปรดเกล้าฯ  เจาะจงให้สร้างพระปรางค์ไว้อีกแห่งหนึ่ง สำหรับเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบรมราชบิดาของพระองค์ไว้ส่วนหนึ่งด้วย 
ถ้าจะมีปัญหาต่อไปว่า ทำไมจึงทรงสร้างไว้หลายแห่ง มิสร้างไว้บรรจุพระอังคารของเจ้านายพระองค์อื่นบ้างหรือ  ก็อาจจะตอบได้ว่า เจ้านายพระองค์อื่นนั้นท่านล้วนแต่มีวัดของท่าน  มีเจดีย์ที่บรรจุอัฐธาตุของท่าน  และเป็นหน้าที่ของโอรสธิดาของท่านหมดแล้ว  ไม่ต้องเป็นห่วง  ยังเหลือแต่ของพระบรมราชบิดาของพระองค์เท่านั้น  ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่  เป็นหน้าที่ของพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสจะต้องทรงเป็นห่วง และจะต้องทรงจัดทำให้ดีที่สุดด้วย  ยิ่งกว่านั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   พระบรมราชบิดาของพระองค์นั้นเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ  การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เป็นพระราชโอรส และทรงเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน  จะทรงพระราชดำริโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างพระปรางค์ไว้สัก ๓ แห่ง  ให้พระวิญญาณของพระบรมราชบิดาเสด็จท่องเที่ยว  ไปสถิตอยู่ยังพระปรางค์แห่งโน้นบ้างแห่งนี้บ้าง โดยความเกษมสำราญพระราชหฤทัยนั้น  จะกระทำมิได้เขียวหรือ  ความคิดอย่างเราๆ ท่านๆ สามัญชนก็อาจจะคิดได้เช่นเดียวกัน  ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินควรเกินเหตุประการใด   และวัดที่กล่าวแล้วนั้นก็ล้วนเป็นวัดที่พระบรมราชบิดาของพระองค์ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์ไว้ท้ัง ๓ วัด   มูลเหตุการสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม  จึงไม่มีทางสันนิษฐานเป็นอย่างอื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เป็นที่บรรจุพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๖)

ตอนที่ ๖

คติการสร้างพระปรางค์  ปราสาทและพระสถูปเจดีย์น้ันย่อมมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน  คือเป็นที่เคารพสักการะบูชา คติในทางศาสนาพราหมณ์สร้างพระปรางค์ไว้เพื่อเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า  คือ พระพรหม  พระอิศวร และ พระนารายณ์  เช่น พระปรางค์ ๓ ยอด ลพบุรี เป็นต้น  แต่ต่อมาภายหลัง ถือคติว่า พระมหากษัตราธิราชเจานั้นเป็นสมมุติเทพเทียบพระผู้เป็นเจ้าด้วย  จึงนิยมสร้างปราสาทเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระบรมมหากษัตริย์ด้วย  เช่นปราสาทนครวัดเป็นที่บรรจุพระบรมศพของกษัตริย์ขอมเป็นต้น  ส่วนคติทางพระพุทธศาสนานั้นนิยมสร้างพระสถูปเจดีย์เป็นทีบรรจุพระอังคารธาตุ เช่น สร้างพระสถูปเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  และพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น  การสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ จึงปรากฎเป็นความนิยมแพร่หลายในประเทศทีนับถือพระพุทธศาสนา  อย่างในประเทศพม่า ก็ว่าเต็มไปด้วยเจดีย์ ในเมืองไทยนี้ตามวัดวาอารามแลสลอนไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่  หรืออย่างที่นายนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์) พรรณาไว้ในนิราศนรินทร์ว่า "เจดีย์ระดะแซง  เสียดยอด..."  คติในทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมสร้างพระเจดีย์เป็นพื้น การสร้างพระปรางค์เพิ่งจะมาเกิดมีขึ่้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับจะทรงพระราชดำริเป็นสามัญสำนึกว่า  พระบรมธาตุพระอัฐิธาตุทั้งหลายนั้น แท้จริงก็มีพระวิญญาณธาตุของท่านเจ้าของสถิตอยู่  จนกว่าจะต้องถึงคราวต้องจุติปฎิสนธิในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป  จึงควรสร้างเป็นพระปรางค์ ให้เป็นที่สิงสถิตของพระวิญญาณให้สวยงาม เป็นที่เกษมสำราญตามสมควรแก่พระเกียรติยศ  เมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้อยู่ปราสาทราชวังสวยงาม  มีความเกษมสำราญ เมื่อสวรรคตแล้ว ก็ควรให้พระวิญญาณได้สถิตในปรางค์ปราสาทให้สวยงามเกษมสำราญปานกัน  ดังเช่นคติในทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานก็ยังมีการสร้างเรือแพนาวา บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ แม้กระทั่งกระดาษเงินกระดาษทองเผาส่งไปให้ใช้ในเมืองสวรรค์  เช่นที่พวกจีนกระทำอยู่  คติความเชื่อถืออันนี้ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจากคติทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการระลึกชาติได้  และเรื่องชาติใหม่ภพใหม่แต่ประการใดไม่   ยังคงเป็นความเชื่อของคนไทยส่วนมากอยู่ทุกวันนี้ว่า  ตายแล้ววิญญาณล่องลอยไป รับทุกข์รับสุขตามผลกรรมที่ทำมา จนกว่าจะถึงคราวจุติปฎิสนธิใหม่  แม้คตินี้จะใช่หรือมิใช่คติทางพระพุทธศาสนาโดยแท้จริงหรือไม่ก็ตาม  เราก็ห้ามความเชื่อถืออันนี้ของคนไม่ได้  และถ้าหากว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท่านจะเชื่อของท่านเช่นนี้บ้างก็เป็นพระราชศรัทธาของพระองค์ท่าน  ใครจะไปว่าอะไร  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่แท้ๆ  ยังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพของพระองค์ว่า ให้มีพิธีสวดกงเต็กให้ด้วย  คนเรานั้นพอถึงคราวเกี่ยวกับการเป็นการตายขึ้นมาแล้ว  ถือเอาความเชื่อเป็นเกณฑ์ด้วยกันทั้งนั้น  ฉนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม  เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้นย่อมเป็นไปได้  ข้อสำคัญก็คือคงมิได้สร้างขึ้นเพียงประดับวัดโก้ๆเท่านั้นแน่นอน แต่ทรงสร้างขึ้นเพื่ออะไรนั้น  ขอให้เราพิจารณากันต่อไปถึงประวัติการสร้างพระปรางค์ที่วัดอื่นๆก่อน
"วัดอรุณราชวราราม  เดิมชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ทรงปฎิสังขรณ์พระอุโบสถเก่า  ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่  แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณธาราม ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นวัดอรุณราชวราราม  ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์เป็นยอดมงกุฎ  และปฎิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม...." 
"วัดราชบูรณะ  เดิมชื่อวัดเลียบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (เจ้าฟ้าต้น ต้นตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงช่วยและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบูรณะ  รัชกาลที่๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้ถอนสีมาเก่าแล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่  

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๕)

ตอนที่ ๕

"พระวิหารและกุฎิใหญ่เป็นฝืมือรัชกาลที่ ๓"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงแน่พระทัยว่า  ฝืมือการก่อสร้างพระวิหารนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ ๓ เรื่องนี้ก็มีข้อความตรงตามประวัติที่กล่าวไว้ว่าวัดอัมพวันเจติยารามได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
"พระปรางค์มีระเบียงล้อม รูปบานบนซึ่งแปลก ไม่มีที่ไหนโตเท่านี้"




พระวิหารวัดอัมพวันเจติยาราม






        ข้อความตอนนี้ทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อเนื่องมาจากเรื่องพระวิหารที่ว่าเป็นฝืมือช่างในรัชกาลที่ ๓  ก็ทำให้เข้าใจว่าทรงวินิจฉัยว่า  พระปรางค์นี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และสร้างในคราวบูรณปฎิสังขรณ์คร้ังใหญ่น้ันเอง  เมื่อตรวจดูตามตำนานวัดหลวง ๑๑๕ วัด  ก็มีพระปรางค์อยู่เพียง ๓ วัด  คือ  พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)  พระปรางค์วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  และโลหปราสาทวัดราชนัดดาราม  ซึ่งล้วนแต่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างหรือบูรณปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นทั้งสิ้น ในรัชกาลอื่นก่อนหรือหลังไม่ปรากฎว่ามีการสร้างพระปรางค์ในวัดไหนเลย  รัชกาลที่๓ นั้นโปรดการสร้างวัดวาอารามและวัตถุในพระพุทธศาสนา จนมีคำกล่าวกันว่า  รัชกาลที่ ๑นั้นใครรบเก่งก็โปรด  รัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็โปรด  รัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดก็โปรด  รัชกาลที่ ๔ ใครรู้ภาษาอังกฤษก็โปรด  ดังนี้เป็นต้น  พระปรางค์วัดอัมพวันเจติยารามนี้ ก็เชื่อได้สนิทใจว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้เช่นนี้  แม้ข้อความจะไม่แจ่มแจ้งเจาะจงลงไปโดยเฉพาะก็ตาม  
"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓นั้นทรงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗  และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔"  การสร้างพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ก็จะตกอยู่ในระหว่างนี้ แต่น่าจะเป็นสมัยตอนต้นรัชกาล คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๑  หลังจากหมดเรื่องยุ่งทางด้านเวียงจันทน์  เพราะปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๘  และหมดเรืองยุ่งทางด้านพม่า  เพราะสิงโตอังกฤษเข้าไปเดินหางอาละวาดอยู่ในกรุงย่างกุ้งแล้ว  และเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระบรมชนกนาถและสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าด้วย  กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๗  และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๙  การที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรรคตในเวลาไร่เรื่ยกันนี้ ย่อมเป็นระยะเวลาที่จะทรงบำเพ็ฺญพระราชกุศลถวาย การสร้างวัด การบูรณปฎิสังขรณ์วัดวาอารามของพระองค์จึงมีขึ้นในระยะนี้  และวัดที่จะทรงระลึกถึงก่อนวัดอื่นก็คือวัดอัมพวันเจติยาราม เพราะเหตุผลที่ว่าวัดนี้เป็นวัดราชินิกุลสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือจะพูดตรงๆ ว่าเป็นวัดของสมเด็จพระอัยกีของพระองค์โดยตรงก็ว่าได้  นอกนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ก็ทรงพระราชสมภพ ณ. ที่นั้นด้วย  พระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๖๘   และพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ถวายพระเพลิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  การสร้างพระปรางค์  พระวิหารก็อยู่ในระยะนี้เอง 



                               


                                      (โปรดติดตามตอนต่อไป)