วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๕)




     ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้สร้างวัดนี้   สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี   หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้างแน่นั้น  สมควรจะยุติลงได้ว่า  สมเด็จพระรูปฯ คงจะได้บริจาคที่สวนเดิมอุทิศถวายให้เป็นที่สร้างวัดไว้ก่อน  ต่อมาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  คงจะได้ทรงเป็นหัวหน้าบรรดาเจ้าคุณพระอัยกาทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทร  ซึ่งเป็นเจ้าราชินิกุลแต่มั่งมีศรีสุขแล้วน้ัน  รวมรวมที่ดินและพระตำหนักเดิมของแต่ละท่านเข้าด้วยกัน  สร้างวัดถวายแด่สมเด็จพระรูปฯ   สร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญและกุฎิสงฆ์ขึ้นก่อน  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ก็เสริมสร้างขี้นอีก มาในรัชกาลที ๓ ก็บูรณะปฎิสังขรณ์เป็นการใหญ่  สร้างพระปรางค์ พระวิหาร พระที่นั่งทรงธรรมขึ้น  และในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ก็บูรณะซ่อมแซมมาทุกๆรัชกาลดังกล่าวแล้ว   แต่ก็คงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระรูปฯผู้ทรงเป็นต้นวงศ์ราชินิกุลบางช้างทั้งสิ้น     ฉนั้นจึงยุติลงได้ว่า   วัดนี้สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสร้างดังกล่าวแล้ว   จึงควรจะได้กล่าวถึงประวัติท่านผู้สร้างวัดนี้ด้วย

     สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  พระนามเดิมว่า สั้น ทรงสืบเชื้อสายมาแต่ท่านตาเจ้าแสน   ท่านตาเจ้าแสนมีบุตรีชื่อ ท่านยายเจ้าถี   ท่านยายเจ้าถีมีธิดาชื่อ สั้น คือสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  สมเด็จพระรูปฯ สมรสกับสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ พระนามเดิมว่า ทอง  ซึ่งเป็นบุตรท่านยายเจ้าชี   ท่านยายเจ้าชีเป็นบุตรท่านตาปะขาวพลอย  และท่านตาปะขาวพลอยเป็นบุตรท่านตาเจ้าแสน  ฉนั้นสมเด็จพระรูปและสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอก็เป็นญาติวงศ์เดียวกัน  สืบมาแต่พี่น้องท้องเดียวกัน  ๒ ท่านชื่อพลาย กับแสน 

     สมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ(ทอง) นั้นสิ้นพระชนม์แต่สมัยกรุงธนบุรี  ส่วนสมเด็จพระรูปฯ ได้ทรงผนวชเป็นชีมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๑   ทรงมีพระโอรสธิดารวม ๑๐ ท่านคือ

    ๑. เจ้าคุณหญิงแว่น ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
    ๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ สมรสกับท่านตาเจ้าขุนทอง  มีบุตร ๑ ธิดา๑ คือ  เจ้าพระยาอัครมหาเสนา(สังข์)  สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒  และเจ้าจอมหงษ์ ในรัชกาลที่ ๑ 
    ๓. เจ้าคุณชายชูโต  สมรสกับท่านยายทองดี  มีธิดาชื่อคุณหญิงม่วง  เป็นภรรยาพระยาสมบัติบาล(เสือ) มีบุตรธิดาสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล ชูโต   ต่อมาแยกเป็น แสงชูโต และ สวัสดิชูโต รวม ๓ สาขา
    ๔. สมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  มีพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  สืบสายราชวงศ์จักรีต่อมาจนบัดนี้  และทรงเป็นต้นราชสกุล  ณ อยุธยา ในบัดนี้ หลายสาขา คือ กล้วยไม้, กุสุมา, เดชาติวงศ์, พนมวัน, กุญชร, เรณุนันทน์, นิยะมิศร, ทินกร, ไพฑรูย์, มหากุล, วัชรีวงศ์, ชุมแสง, สนิทวงศ์, มรกฎ, นิลรัตน์, อรุณวงศ์, กปิตถา, อาภรณ์กุล, ปราโมช, มาลากุล, พนมวัน รวม ๒๑ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๓อีก คือ ศิริวงศ์, อรนพ,สุบรรณ, สิงหรา, ชมพูนุช, ปิยากร, คเนจร, โกเมน, งอนรถ, อุไรพงศ์, ลำยอง, ลดาวัลย์ และชุมสาย รวม ๑๓ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๔ อีกคือ  นพวงศ์, สุประดิษฐ์, กฤษดากร, คัคณางค์, สุขสวัสดิ์, ทวีวงศ์, ทองใหญ่, เกษมสันต์, กมลาศน์, จักรพันธ์ุ, เกษมศรี, ศรีธวัช, ทองแถม, ชุมพล, เทวกุล, ภาณุพันธ์ุ, สวัสดิกุล, จันทรทัต, ชยางกูร, วรวรรณ, ดิศกุล, โสณกุล, จิตรพงศ์, วัฒนวงศ์, สวัสดิวัฒน์,  ไชยันต์  รวม ๒๖ สาขา

     สืบสายมาทางราชสกุลรัชกาลที่ ๕ อีก คือ กิตติยากร, รพีพัฒน์, ประวิตร, จิรประวัติ, อาภากร ,บริพัตร, ฉัตรชัย, เพ็ญพัฒน์, จักรพงศ์, ยุคล, วุฒิชัย, สุริยง, รังสิต, จุฑาธุช, และมหิดล รวม ๑๕ สาขา 

    สืบสายมาทางกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  คือกาญจนวิชัย, กัลยาณะวงศ์, สุทัศนีย์, วรวุฒิ,รุจจวิชัย, วิบูลยพรรณ, รัชนี, และวิสุทธิรวม ๘ สาขา

     รวมที่สืบสายสกุลโดยตรงลงมาทางสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ๑๐๕ สาขา
     ๕.เจ้าคุณชายแตง ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล 
     ๖.เจ้าคุณหญิงชีโพ  ถูกพม่าจับไปสูญสิ้นวงศ์
     ๗.เจ้าคุณชายพู ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๘. เจ้าคุณหญิงเสม ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๙. เจ้าคุณหญิงนวล สมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค)  มีบุตรสืบสกุล"บุนนาค" ต่อมา อันนับเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาใหญ่ 
     ๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว  คนท้ังหลายเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง  เพราะท่านอยู่ที่บางช้างตลอดมาจนสิ้นบุญ สมรสกับพระแม่กลองบุรี(ศร) เจ้าเมืองแม่กลอง หรือเมืองสมุทรสงครามในบัดนี้  ตำแหน่งเจ้าเมืองแม่กลองน้ันเรียกว่า พระยาแม่กลอง หรือ พระยาสมุทรสงคราม  ตามชื่อเมืองอันเป็นนามตำแหน่ง แต่บรรดาศักดิ์จริงนั้นในที่หลายแห่งว่าเป็นพระแม่กลอง  มีบุตรสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล "ณ บางช้าง"   อันเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาหนึ่ง  คนส่วนมากเข้าใจว่าสกุลนี้เท่านั้นที่เป็นราชินิกุลบางช้าง  ที่จริงน้ัน สกุล  ณ บางช้าง กับ ราชินิกุลบางช้าง  นั้น คนละคำมีความหมายต่างกัน 

     ถ้าพูดถึง ราชินิกุลบางช้าง ก็หมายรวมถึง สกุล บุนนาค  และสกุล ชูโต แสงชูโต ด้วย เพราะเป็นราชินิกุล หรือสกุลฝ่ายวงศ์ญาติข้างพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  สมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก  เป็นต้นกำเนิดวงศ์ราชินิกุลบางช้าง  คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทรฯ  ก็ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่น้ันมา เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒   หรือพูดง่ายๆว่าถ้าสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไม่มีพระราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ราชินิกุลบางช้างก็ไม่มี

     ที่นำเอาราชินิกุลบางช้างและราชสกุลที่สืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มาลงไว้ยืดยาวก็เพื่อประโยชน์ของท่านที่ประสงค์จะบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยาราม  หรือคิดจะสร้างพระรูปของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับเมืองนี้ในวันหน้า  จะได้ระลึกถึงผู้สืบสายราชินิกุลแบะราชสกุลดังกล่าวแล้วนี้  เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกันให้สำเร็จต่อไป

     

     
    

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๔)




     รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ ไม่พบหลักฐานว่าได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรวัดอัมพวันฯ เหมือนรัชกาลก่อนๆ  แต่ก็เผอิญในรัชกาลน้ันๆ มีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยในแผ่นดิน  เช่น การเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลที่ ๗  จนถูกคณะราษฎร์ปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และต้องสละราชสมบัติเสียก่อน  รัชกาลที่ ๘ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์  ยังไม่ได้ทันบรมราชาภิเศก ดังนี้เป็นต้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินต้น  ที่วัดนี้เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๑ มีประชาชนชาวเมืองสมุทรสงครามมาเฝ้าชมพระบารมีแน่นขนัดสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  และแน่นวัดอัมพวันเจติยาราม  ยังเป็นภาพประทับใจชาวเมืองสมุทรสงครามอยู่ไม่รู้ลืม   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นโพธิ์ไว้ต้นหนึ่งที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ต้นหนึ่งแทนต้นเก่าที่ตายไป  ณ. บริเวณพระปรางค์ ด้านทิศตะวันตก  ต้นไม้ท้ังคู่นี้จะเป็นต้นไม้ในประวัติศาสตร์คู่กับวัดต่อไปชั่วกาลนาน  

     ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๑ นั้นมีข้าราชบริพารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก อาทิเช่น นายพจน์ สารสิน, พลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศล, พลตำรวจโทประชา บูรณะธนิต, นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ได้ไปรอรับเสด็จอยู่ด้วย   สมัยนั้น นายชาติ อภิศลย์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม 

     ในคราวเสด็จพระราชดำเนินคร้ังน้ันเอง  ท่านเจ้าคุณพระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขันติโก)  เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ ได้ทูลถวายพระพรถึงเรื่องประวัติของวัดนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอันมาก  รับสั่งว่า "เขียนสิ รู้อะไรก็เขียนไว้..."  และนี่เองเป็นมูลเหตุของการเขียนประวัติวัดนี้  ท่านเจ้าคุณพระอัมพวัน  ได้มีจดหมายเรียกผู้เขียนไปพบและปรารภว่า  "มองไม่เห็นใคร ขอให้ช่วยเขียนประวัติวัดนี้ด้วย  จะพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน ปรารถนาที่สุดในชีวิตก็คือ  อยากจะเห็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาวสมุทรสงคราม ประสูติที่บริเวณวัดนี้  ได้สร้างขึ้นเป็นอนุสาวรรีย์ที่เคารพสักการะของชาวเมืองนี้สืบไปภายหน้า" ผู้เขียนจึงรับปากว่าจะเขียนเรื่องนี้ให้ด้วยความเต็มใจ 

     พูดถึงเรื่องสมภารวัดอัมพวันเจติยารามนี้  พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช  รับสั่งไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า     "แต่ก่อนมาเป็นวัดราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น  เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่  การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้น  เห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล  ไม่เหมือนวัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีๆนี่ จนราษฎรในคลองอัมพวา  ก็พากันไปทำบุญเสียทีวัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้าง ไม่มีอย่างอื่น  นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้.."  

     คร้้งน้ันเมื่อเสด็จกลับได้โปรดเกล้าฯ ตั้งพระครูมหาสิทธิการ(แดง) วัดบ้านแหลม เป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ  ไปเป็นสมภารวัดอัมพวันเจติยาราม 

     รายนามเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งเป็นพระราชาคณะโดยมาก  คือ 
     ๑. พระวินัยมุนี(บัว) ผู้สร้างวัดปทุมคณาวาส และวัดท้ายหาด 
     ๒. พระวินัยมุนี (น้อย) 
     ๓. พระราชศรัทธาโสภิต (ศรี) 
     ๔.พระสนิทสมณคุณ (เนตร)
     ๕. พระมหาสิทธิการ (แดง)
     ๖. พระมหาสิทธิการ(ถมยา)
     ๗. พระครูสมุห์ฮ้อ
     ๘.พระครูอัมพวันเจติยาภิบาล (ลิบ)
     ๙. พระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขนติโก)  เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๐๖

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๓)



     ดังได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นว่า วัดสุวรรณดาราราม เป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระบรรพบุรุษต้นบรมราชวงศ์จักรีเป็นผู้ทรงสร้าง  คือสมเด็จปฐมบรมไปยิกาธิบดี(ทองดี) และพระอัครชายา(ดาวเรือง)  ซึ่งเป็นพระชนกชนนีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสวยราชย์แล้ว ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ร่วมกับพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมชื่อว่า วัดทอง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า  "วัดสุวรรณดาราราม" โดยนำเอาพระนามเดิมของพระชนกชนนีมาผสมกันเป็ฺนนามวัด  คือ สุวรรณ(ทองดี) และดารา(ดาวเรือง)   จึงเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์  จะต้องบูรณะปฎิสังขรณ์และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินที่วัดนี้

     ส่วนวัดอัมพวันเจติยารามก็เป็นวัดหลวง ซึ่งบรรพบุรษต้นวงศ์ราชินิกุลของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง  พูดด้วยภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆก็คือ  วัดสุวรรณดารามเป็นวัดหลวงฝ่ายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  และวัดอัมพวันเจติยารามเป็นวัดหลวงฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินี

     รัชกาลที่ ๕จึงทรงรับสั่งว่า "วัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิเป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม"  ดังกล่าวแล้ว  จึงถือเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี  จะทรงบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยารามตลอดมาทุกรัชกาล   รัชกาลที่ ๕เสด็จมาในคร้ังน้ันก็ได้พระราชทานเงินบูรณะซ่อมแซมด้วย   ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาว่า "ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔๐๐๐ บาท และเรี่ยไรได้บ้าง..."  เงินสมัยนั้นแพงมีค่าประมาณ ๕๐ เท่าของสมัยปัจจุบัน   ก็ราว ๒๐๐,๐๐๐ บาทของสมัยนี้   และที่ว่าเรี่ยไรได้บ้างนั้น  ก็คือเรี่ยไรพระบรมวงศานุวงและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จนั่นเอง  รับสั่งต่อไปว่า " จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร..." 

     พระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จคร้ังก่อนและครั้งสุดท้าย  ประกอบด้วย
     ๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร 
     ๒. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระบรมราชินีนาถ
     ในพระนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้น  ไม่ปรากฎพระนามว่าตามเสด็จ  แต่ปรากฎจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีถึงพระครูมหาสิทธิการ(แดง)  ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๔  ว่า "เมื่อปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในขบวนหลวง..." แสดงว่าเสด็จด้วย
     ๓.กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ทรงเป็นกัปตันเรือถือท้ายเรือพระที่นั่ง  
     ๔.สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี  พระอัครราชเทวี 
     ๕.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ 
     ๖.สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้บัญชาการทหารเรือ
     ๗.สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
    ๘.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
    ๙. กรมพระสมมุติอมรพันธ์ุ
    ๑๐. กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ 
    ๑๑.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา
    ๑๒.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์
    ๑๓.กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
    ๑๔.กรมขุนสีหวิกรมเกรียงไกร
    ๑๕.กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
    ๑๖.กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์
    ๑๗.เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
    ๑๘.พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (แฉ บุนนาค) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี
    ๑๙.พระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค)  ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม
    ๒๐.พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) 
    ๒๑.พระยานิพัทธราชกิจ( อ้น นรพัลลภ)
    ๒๒.พระยาสุรินทร์ฤาชัย (เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
     
     ส่วนพระยาศิริไชยบุรินทร์ (สุข โชติเสถียร) ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี  และพระยาประสิทธิสงคราม (นุช มหานีรานนท์)  ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี  จะได้ตามเสด็จมาในขบวนด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ  แต่มีกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขานั้น  เจ้านายที่ได้กล่าวพระนามและกล่าวนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่ได้เคยเสด็จทอดพระเนตรและชมวัดอัมพวันเจติยารามมาแล้วท้ังสิ้น  

    เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ และวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาตรวจการณ์คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม  ก็ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามด้วย   ปรากฎว่าพระครูมหาสิทธิการ(ถมยา) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ และเจ้าคณะแขวงอัมพวา  ได้ตามเสด็จไปตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดนี้หลายแห่ง 



วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๒)





     จะเห็นว่าคนโบราณท่านมักทำอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาเช่นนี้เสมอ  เช่นจะสอนอะไรท่านก็ไม่ได้สอนตรงๆ แต่มักจะกล่าวไว้เป็นเชิงสุภาษิตหรือคำพังเพยให้คิดเป็นปริศนาเล่น  เช่น "พระนิพานนั้นหรือ ก็คือ ไม่หนี ไม่สู้  ไม่อยู่ ไม่ไปนั่นเอง" หรือเช่นว่า "บ่ออะไรเล่าจะลึก ศึกอะไรเล่าจะยาก จากอะไรเล่าจะ
เข็ญ เห็นอะไรเล่าจะน่ากลัว  กลัวอะไรเล่า จะต้องกล้าสู้..."

     หรือแม้แต่ในตำรับพิชัยสงคราม ท่านกล่าวถึงกลศึกไว้ ๒๑ กล เพียงแต่ชื่อกลก็ยังเป็นคำซ่อนเงื่อนให้เราแก้เสียแล้ว  เช่น"หนึ่งชื่อว่ากลฤทธิ์ สองชื่อว่ากลสีหจักร สามชื่อว่ากลวลักษณ์ซ่อนเงื่อน  สี่ชื่อว่ากลเถื่อนกำบัง  ห้าชื่อว่ากลพังภูผา  หกชื่อว่ากลม้ากินสวน เจ็ดชื่อว่ากลพวนเรือโยง แปดชื่อว่ากลโพงน้ำบ่อ  เก้าชื่อว่ากลล่อช้างป่า  สิบชื่อว่ากลม้าดำดิน สิบเอ็ดชื่อว่ากลอินทร์พิมาน สิบสองชื่อว่ากลผลาญศัตรู  สิบสามชื่อว่ากลชูพิษแสลง  สิบสี่ชื่อว่ากลแข็งให้อ่อน สิบห้าชื่อว่ากลย้อนภูเขา สิบหกชื่อว่ากลกลเย้าให้ผอม สิบเจ็ดชื่อว่ากลจอมปราสาท  สิบแปดชื่อว่ากลราชปัญญา สิบเก้าชื่อว่ากลฟ้าสนั่นเมือง ยี่สิบชื่อว่ากลเรียงหลักยืน ยี่สิบเอ็ดชื่อว่ากลปืนพระราม..." เช่นนี้ก็เป็นตัวอย่าง 


     การที่ท่านสร้างพระอุโบสถ  พระที่นั่งทรงธรรม และพระปรางค์ไว้ที่วัดอัมพวันเจติยารามนั้น  ก็เป็นปริศนาข้อใหญ่ ผู้ใดสนใจใคร่จะลองปัญญาก็โปรดตีปัญหาดู  ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะผิดถูกประการใด  นี่ก็ลองนึกดูตามที่คิดเห็นเอาเองเท่านั้น 

วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมมีชื่อว่า วัดอัมพวา  ตามชื่อตำบลบ้าน  หรือเรียกที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปว่า  "อัมพวาสวนนอก"   ภายหลังต่อมาท่านนักปราชญ์ผู้เฟื่องฟูทางภาษาบาลี   ท่านเลยแปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลีเสียเลยว่า "อัมพวาพาหิรุทยานประเทศ" ชื่อวัดอัมพวันเจติยารามนี้เข้าใจว่าจะเป็นชื่อพระราชทานในสมัยบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓  หรือรัชกาลที่ ๔ นี้เอง เพราะคำว่า "เจติยาราม" ทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลังที่สร้างพระปรางค์แล้ว  ชือ่"อัมพวันเจติยาราม" ก็เป็นชื่อที่มีความหมายไพเราะเหมาะสม กล่าวคือ "อัมพวัน" โดยพยัญชนะก็แปลว่า "สวนมะม่วง"  โดยความหมายก็หมายถึง"อัมพวาสวนนอก"  และต้นมะม่วงยังเป็นต้นไม้เกี่ยวเนื่องอยู่ในพุทธประวัติด้วย  "เจติย" โดยความหมายก็แปลว่า"ที่เคารพบูชา"  และ "อาราม"  หมายความว่า "ที่อยู่อันร่มรื่นเกษมสำราญ" 

    ชื่อ "วัดอัมพวันเจติยาราม" จึงมีความหมายว่า "สวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญเป็นสถานที่เคารพบูชา"  แสดงอยู่ว่า  ผู้ที่คิดต้ังชื่อนี้เป็นบุคคลชั้นสูงซึ่งมีความรู้ดีทั้งในทางภาษา ทางศาสนา และประวัติของวัดนี้ด้วย  จึงจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นพระราชทาน แต่จะเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น  นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีก  คือวัดนี้มีชื่อเดิมอยู่แล้ว  ใครๆก็รู้ดีว่าเป็นวัดหลวง  เจ้าอาวาสหรือเจ้าบ้านเจ้าเมือง  ก็คงไม่บังอาจมาเปลี่ยนชื่อวัดนี้ใหม่ตามใจชอบ  ถึงเปลี่ยนก็ไม่เป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ที่มหาชนนิยมเรียกตาม  จะเห็นได้ว่าวัดราษฎร์ที่ตั้งชื่อเปลี่ยนชื่อกันเสียเพราะพริ้ง  เขียนป้ายไว้เสียสวยงาม  แต่ไม่มีใครนิยมเรียกตาม

     ขอให้เรามาพิจารณาข้อความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องประวัติวัดอัมพวันเจติยารามต่อไป

      "ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง...."  ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย เสมาทำช้อนไว้เป็นเสมาคู่เช่นน้ัน เป็นคตินิยมมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หมายความว่าพระอุโบสถนี้ได้รับการบูรณะซ้อมแซมและผูกพัทธสีมาขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง 

"เห็นว่าวัดอัมพวันนี้ คงจะได้คิดให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งได้ทรงสร้างบางอย่างทุกรัชกาลมา...."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๑)



     เมื่อได้สันนิษฐานมาถึงขั้นนี้  ก็จะแลเห็นว่าปูชนียสถานทั้ง ๓ แห่งในวัดอัมพวันเจติยารามนี้  ท่านสร้างไว้ให้คนรุ่นหลังคิดเป็นปริศนาถึง ๓ นัยดังนี้

     นัยที่หนึ่ง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าหลักไตรสิกขาในธรรมะของพระพุทธศาสนา  กล่าวคือพระอุโบสถเป็นที่อุปสมบทของกุลบุตรเพื่อรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อพระภิกษุสงฆ์ได้ฟังพระโอวาทปาฎิโมกข์ให้สังวรระวังในศีล  พระอุโบสถจึงหมายถึงศีลและการรักษาศีล  พระที่นั่งทรงธรรมนั้นเป็นที่เจริญภาวนาให้เกิดสมาธิ  พระที่นั่งทรงธรรมจึงหมายถึงสมาธิ  พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง มีระเบียงล้อมรอบอันหมายถึงกาย  ตัวองค์พระปรางค์นั้นหมายถึงจิตใจอันได้แก่ดวงปัญญา  คือเมื่อรักษาศึลแล้วก็เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็เกิดปัญญา  พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งศีล  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งสมาธิ  พระปรางค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา  รวมเป็นไตรสิกขา




     นัยที่สอง คือหัวใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละชั่ว ประพฤติดี  และมีจิตใสบริสุทธิ์สะอาด  พระอุโบสถเป็นทีรักษาศีล ไม่ปฎิบัตในข้อที่ห้าม เท่ากับละชั่ว  พระที่นั่งทรงธรรมนั้นคือที่ฟังธรรมเจริญภาวนา เท่ากับประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ พระอุโบสถจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการละชั่ว  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการประพฤติดี  พระปรางค์นั้นมีลักษณะสูงส่ง  ย่อมเปรียบได้กับจิตใจทีใฝ่ดีย่อมพ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำมาย่ำยี มีพระระเบียงล้อมรอบ เปรียบเหมือนมีกำแพงแก้วคอยป้องกันทั้ง ๔ ทิศ  มิให้หัวใจแส่ส่ายไปหาเครื่องเศร้าหมอง ได้แก่บาปอกุศล  ที่ระเบียงนั้นมีพระพุทธรูปตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่ทั้ง ๔ ทิศ ๘ทิศ ๑๖ ทิศ  นั้นหมายถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหมวดต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน  ถ้าประพฤติปฎิบัตตามแล้ว  พระธรรมเหล่านั้นย่อมจะป้องกันผองภัยอันตรายต่างๆได้ทั้งสิ้น




     นัยที่สาม คือ พระอุโบสถ หมายถึงสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  ซึ่งพระองค์ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ  เท่ากับว่าพระองค์ละบาปละชั่วแล้วในชาตินี้ภพนี้  พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ละชั่ว  พระอังคารธาตุของพระองค์อยู่ในพระอุโบสถนั้น  คือที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถ  จึงนับเป็นที่ปลงธรรมสังเวชได้แห่งหนึ่ง   พระที่นั่งทรงธรรมนั้นหมายถึงสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  เพราะระยะเวลาตลอดพระชนม์ชีพนอกจากมิได้ทรงประกอบกรรมทำชั่วแล้ว  ยังทรงบำเพ็ญแต่บุญกุศล  พระองค์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้ประพฤติชอบ พระอังคารธาตุของพระองค์บรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปในพระที่นั่งทรงธรรมนั้น  พระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นสถานทีควรแก่การปลงธรรมสังขารได้แห่งหนึ่ง  พระปรางค์นั้นหมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทรงเป็นพระบรมโพธิสมภาร  เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ยากไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ  ทรงเป็นหลักของแผ่นดิน  ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความยุติธรรม  ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระปัญญาธิคุณ ทรงสอดส่องทุกข์สุขของสมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ทรงเป็นสมมุติเทพผู้บริสุทธิ์  พระคุณลักษณะของพระองค์  จึงประมวลลงเปรียบประดุจพระปรางค์อันมีลักษณะสูงส่งสง่าสวยงาม 


     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงเป็นเครื่องหมายแห่งผู้มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด  ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิ์คุณ  เทียบด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งคติทางพระพุทธศาสนาถึอว่า  พระมหากษัตราธิราชเจ้านั้นมีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระพุทธเจ้า  ทั้งในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิธาตุไว้สักการบูชาของมหาชน  และพระอังคารธาตุของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็บรรจุไว้ในพระปรางค์นั้นด้วย   พระปรางค์ที่วัดอัมพวันเจติยารามจึงเป็นสังเวชนียสถานอันควรปลงธรรมสังเวชแห่งหนึ่ง



(โปรดติดตามตอนต่อไป)