วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๔)



พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๔

ปัญหาที่ว่าวัดอัมพวันเจติยารามสร้างเมื่อไร ใครสร้างแน่  สมเด็จพระรูปฯ หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  เราจะเชื่อตามคำเขาเล่าว่า "จระเข้มาที่ท่าน้ำ"  ก็เป็นเรื่องเลื่อนลอยเต็มที เข้าทำนอง  "พระอินทร์มาเขียวๆ ไม่เชื่อเลย"  จำเป็นจะต้องยึดหลักฐานจากที่ท่านจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน



หลักฐานจากที่มีอยู่ในบัดนี้ก็มีเพียงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่พบหลักฐานที่เก่าขึ้นไปกว่านี้เลย  แต่หลักฐานที่ขนาดของเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้มานั้นย่อมจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้  ท่านเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่กับวัดวาอารามมาก มีบริวารมาก รู้จักคนมากทั้งพระภิกษุผู้ใหญ่และเจ้านายผู้มีอาวุโสสูง  ตัวท่านเองก็สืบสายตระกูลมาแต่ราชวงศ์จักรี  ่ย่อมมีทางที่จะสืบสวนข้อเท็จจริงในทางพระราชพงศาวดารและโบราณคดีได้โดยง่าย เราไม่เชื่อท่านก็ไม่ทราบว่าจะไปเชื่อใคร ตำนานวัดหลวงที่ท่านเรียบเรียงไว้ ๑๑๕ วัด ก็ล้วนมีข้อความถูกต้องตามประวัติที่ทราบกันอยู่ทั่วไปทั้งสิ้น  เราจะไม่เชื่อเฉพาะที่กล่าวถึงวัดอัมพวันก็ดูกระไรอยู่  นอกจากนั้นท่านยังได้ทูลเกล้าฯถวายในหลวงรัชกาลที ๕ ทรงตรวจด้วย

พูดถึงพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น  โลกยกย่องพระเกียรติยศว่า ทรงเป็นอัจฉริยมหาบุรุษ ทรงฉลาดรอบรู้อย่างลึกซึ้งในคดีโลกคดีธรรม  ทรงสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง  ทรงมีญาณพิเศษสามารถวินิจฉัยเหตุผลต้นปลาย  ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ทุกสิ่งทุกอย่าง  ยากที่จะหาบุคคลใดเทียบได้  เพราะฉนั้นพระราชหัตถเลขารับสั่งเล่าเรื่องวัดอัมพวันเจติยาราม  ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องควรพิจารณาโดยถี่ถ้วน จะทำให้แลเห็นประวัติความเป็นมาของวัดนี้แจ่มชัดขึ้น จะได้ยกมากล่าวใหม่ให้เห็นเป็นตอนๆ

"การซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด..."

 ความตอนนี้หมายความว่า  สวนเดิมของสมเด็จพระรูปฯนั้น รวมอยู่ในวัดวัดนี้  คำว่า สวนเดิม นั้น  ย่่อมหมายรวมถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯด้วย  นอกจากนั้นยังทรงหมายถึงว่า จะไม่ใช่เจ้าของเดียวเท่านั้น  ยังอาจมีของบรรดาโอรสธิดารวมอยู่อีกส่วนด้วย

"น่าจะเป็นว่าที่เดิมที่สำคัญต้ังพระอุโบสถขึ้นแล้ว..."   คำว่าที่เดิมที่สำคัญ นั้นน่าจะทรงหมายพระทัยถึงพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ  ตั้งอยู่ตรงที่ตั้งพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ พระอุโบสถนั้นเป็นหลักสำคัญของวัด  เป็นที่นิมิตหมายเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์  เป็นที่สวดญัติจุตตถกรรม เป็นที่สวดพระโอวาทปาฎิโมกข์  โบราณย่อมจะถึอว่เป็นที่รองรับศิริมงคลอันสูงสุด  การอุทิศที่ให้สร้างพระอุโบสถลงตรงที่ตำหนักเดิมจึงเท่ากับอุทิศถวายที่น้ันแด่พระพุทธเจ้าโดยตรง  และถือว่าไม่มีผู้ใดจะมารื้อถอนขับไล่ไปได้อีก  ทั้งยังถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตนและวงศ์ตระกูลต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์ด้วย  เหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระรูปฯ นั้นอยู่ตรงที่สร้างพระอุโบสถเดี๋ยวนี้




"ทรวงทรงพระอุโบสถ  เป็นแบบอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าเทือกวัดสุวรรณดาราราม..."  ความตอนนี้หมายความว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพราะฝืมือการช่างเหมือนกับวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

"แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ  แต่เดี๋ยวนี้ผิดพระเศียร  น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า..."
 ความตอนนี้เท่ากับพระองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระประธานน้ันซ่อมหรือสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๒ เพราะตามประวัติวัดอรุณราชวรารามนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระอุโบสถหลังเก่า  แล้วยังเรียกชื่อว่า วัดแจ้งอยู่ตามเดิม  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า  วัดอรุณราชวราราม คงจะเป็นการสัณนิษฐานที่ไม่เหลือเกินนักที่จะลงความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะโปรดให้นำพระสรีรังคารส่วนหนึ่งของสมเด็จพระรูปฯ มาบรรจุไว้ ในองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดอัมพวันฯนี้  พร้อมทั้งให้ช่างปฎิสังขรณ์พระประธานเสียใหม่  แต่ฝืมือช่างที่ทำไว้ไม่เหมือนเดิม  ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า " น่าจะมีเหตุแตกพังอย่างไร  ซ่อมขึ้นไมเหมือนเก่า พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวไปกว่าพระสาวกด้วย"  พระประธานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ นับเวลาแต่เริ่มรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒  ก็เป็นเวลาเพียง ๒๗ ปี ถึงแม้จะนับต่อไปจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๖๗  ก็เป็นเวลาเพียง ๔๒ ปีเท่านั้น พระประธานสถิตย์อยู่ในพระอุโบสถ คุ้มแดดคุ้มลมคุ้มฝน ระยะเวลาเพียง ๔๒ ปี จะถึงแก่แตกพังเชียวหรือ

สมเด็จพระรูปฯ  นั้นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็น "หลานยาย"  คงจะได้ทรงจัดการบรรจุพระอัฐิและพระอังคารให้เรียบร้อย และหาที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าบรรจุไว้ในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งสร้างทับตรงตำหนักเก่าของท่านไว้  คือใต้ฐานพระประธานน้ันเอง  แต่ในระหว่างการเจาะฐานเพื่อบรรจุนั้นเอง ก็คงเกิดการกระทบกระเทือน ทำให้องค์พระประธานซึ่งเป็นปูนปั้นน้ันแตกร้าวชำรุดถึงพระเศียร จึงต้องทำการซ่อมใหม่  แต่ฝืมือไม่ดีเหมือนเก่าดังกล่าวแล้ว

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๓)

ตอนที่ ๓

การเสด็จประพาสต้นทอดพระเนตรเมืองสมุทรสงครามและวัดอัมพวันเจติยารามในคร้ังสุดท้ายนี้  ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รับสั่งเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างน่าอ่าน  ตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงวัดอัมพวันเจติยาราม และเมืองสมุทรสงครามไว้ดังนี้:-

"วันที่ ๙ กันยายน ระยะทางวันนี้สั้น ออกเรือสายล่องลงมาถึงหน้าที่ว่าการเมืองสมุทรสงคราม  พักทีแพตามเคย แล้วได้ลงเรือยนต์ออกไปดูที่ปากอ่าว  แล้วแล่นกลับขึ้นมาเข้าไปดูคลองสุนัขหอนหน่อยหนึ่ง  แล้วกลับแล่นขึ้นไปอัมพวา  แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการนายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน  แล้วล่องกลับไปเข้าคลองอัมพวา  ประสงค์จะไปให้จนถึงวัดดาวโด่ง  แต่เห็นคลองดาวโด่งแคบลงทุกทีกลัวจักกลับเรือไม่ได้ จึงได้ล่องกลับออกมาทางเดิม แวะกินน้ำชาที่บ้านชายบริพัตร (สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)  ซึ่งตั้งอยู่ในคลองอัมพวาไมลึกเท่าใด แล้วจึงได้กลับมาเรือ  วันนี้มียุงแต่ยังน้อยกว่ากรุงเทพฯ
วันที่ ๑๐ กันยายน ลงเรือไปขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม  พวกราชินิกุลมาคอยเฝ้าในที่นี้  วัดนี้ได้ลงมือปฎิสังขรณ์บ้างตั้งแต่มาคราวก่อน ไมใคร่กระเตื้องขึ้นได้ เหตุด้วยใหญ่โตมาก ไม่มีสมภารดีๆเหลือแต่พระอนุจรอยู่ ๖ รูป  เสนาสนะทรุดโทรมทั่วไปทุกแห่ง การปฎิสังขรณ์ทำแต่เฉพาะพระอุโบสถ  แต่คราวนี้เขาได้ถางที่ทั่วถึงแลเห็นขอบเขตวัด  ซึ่งน่าจะมีราษฎรลุกเหลื่อมเข้ามาเสียมากแล้ว จนที่คอดๆกิ่วๆ  ไม่เป็นเหลี่ยม  แต่กระนั้นก็ยังใหญ่โตมาก  เห็นว่าการซึ่งได้คิดอ่านสืบเสาะหาที่สวนเดิมของสมเด็จรพระรูปนั้น จะหาที่ไหนได้  คงจะได้รวมเข้าอยู่ในวัดนี้หมด จะไม่ใช่แต่เจ้าของเดียว  จะพลอยศรัทธาตามเสด็จสมเด็จพระอมรินทร์ไปด้วยอีกมากเจ้าของด้วยกัน
 สิ่งปลูกสร้างจึงเที่ยวรายอยู่ในที่ต่างๆทั่วไป  น่าจะเป็นว่าเดิมที่สำคัญตั้งพระอุโบสถขึ้นแล้ว  ที่ใครมีอยู่ใกล้เคียงถวายเพิ่มเข้าอยู่ในวัด  สร้างเป็นกุฎิบ้าง ศาลาบ้าง วิหารการเปรียญบ้าง รายกันไป  ไม่ได้คิดวางแผนที่ในคร้ังเดียว มีจนกระทั่งยอดหลังคามุงกระเบื้องขนาดใหญ่  แต่อายุของงานที่ทำหรือปฎิสังขรณ์ย่อมต่างๆกัน  ทรวงทรงพระอุโบสถเป็นอย่างแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เทือกวัดสุวรรณดาราราม  แต่พระประธานเป็นอย่างวัดอรุณ แต่เดี๋่ยวนี้ผิดพระเศียร น่าจะมีเหตแตกพังอย่างไรซ่อมขึ้นไม่เหมือนเก่า  พระพักตร์เลวกว่าพระองค์  และซ้ำเลวกว่าพระสาวกไปด้วย ซุ้มเสมาเป็นของรัชกาลที่ ๔ทรงสร้าง พระวิหารและกุฎิใหญ๋เป็นฝีมือรัชกาลที่ ๓   พระปรางค์มีระเบียงล้อม  รูปบานบนซึ่งแปลกไม่มีที่ไหนโตเท่านี้ ได้ออกเงินพระคลังข้างที่สำหรับปฎิสังขรณ์อีก ๔,๐๐๐ บาท  และเรี่ยไรได้บ้าง  เห็นว่าวัดอัมพวันเจติยารามนี้คงจะได้คิดจะให้เป็นคู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม  จึงได้ทรงบางอย่างทุกๆรัชกาลมา  จะทิ้งให้สาปสูญเสียเห็นจะไม่ควร  ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อน่มาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น  เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่  การที่ไม่ยอมไปอยู่น้ันเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล  ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย  ซึ่งได้ประโยชน์ในทางขลังต่างๆ  แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนี้  จนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญเสียที่วัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่น นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้


กลับจากวัดไปทำครัวเลี้ยงกลางวันกันที่บ้านชายบริพัตร  บ้านนี้ทำเป็นเรือนอย่างไทย สองหลังแฝด  และหอนั่งใหญ่มีชานแล่นตลอดเป็นที่สบายอย่างไทย  ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์ไทยๆงามดี  เลี้ยงกันแล้วได้ลงเรือพายไปตามคลองอัมพวา  แวะวัดดาวดึงส์ที่เคยพักกินข้าวแต่ก่อน  แล้วเข้าคลองดาวโด่งไป จนถึงวัดดาวโด่ง  แวะที่วัดซึ่งได้เคยดูบวชนาคแต่ก่อน  คิดจะไปบางใหญ่แต่เห็นจะไม่ทันด้วยเย็นเสียแล้ว  จึงได้เลี้ยวลงทางคลองขวางไปออกคลองสุนัขหอน  แล้วกลับเข้าคลองลัดจวนขึ้นมาออกปากคลองเหนือที่ว่าการ

เมืองสมุทรสงครามนี้  ท่วงทีภูมิฐานเหมือนอย่างกรุงเทพฯ  ฝั่งตะวันตกแถบคลองบางใหญ่  บางคูเวียง  มีทางทีจะเที่ยวซอกแซกได้มาก ถ้าจะลงเรือเล็กไปเที่ยวจะไปได้หลายวัน  คนในพื้นเมืองมีความนิยมนับเจ้านาย  และไว้ตัวเป็นที่สนิทสนมทั่วไป..."

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๒)



ประวัติ
วัดอัมพวันเจติยาราม

โดย





เทพ สุนทรศารทูล



วัดอัมพวันเจติยาราม  จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญ  คู่กันกับวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วัดสุวรรณดารารามเป็นวัดต้นพระบรมราชวงศ์จักรี ทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้าง  ส่วนวัดอัมพวันเจติยารามเป็นวัดต้นวงศ์ราชินิกุลทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  พระราชชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง

เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร(ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เรียบเรียงตำนานวัดหลวงในราชอาณาจักร ๑๑๕ วัด ทูลเกล่้า ฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพิมพ์ในหนังสือเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙  กล่าวถึงประวัติวัดทั้งสอแห่งนี้ไว้ดังนี้

"วัดสุวรรณดาราราม อยู่ในกำแพงเมืองเก่าริมป้อมเพ็ชร กรุงเก่า สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีทรงสร้าง รัชกาลที่๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์  ทรงปฎิสังขรณ์พระอุโบสถแลเสนาสนะ  แลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงปฎิสังขรณ์ด้วย รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำการเปรียญไม่สำเร็จ สำเร็จในรัชกาลที่ ๓
รัชกาลที่ ๔พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระเจดีย์แลพระวิหารไม่สำเร็จ  มาสำเร็จในรัชกาลปัจจุบันนี้  (รัชกาลที่๕) รัชกาลนี้ทรงปฎิสังขรณ์การเปรียญ พระอุโบสถ และกุฎิทั้วสิ้นด้วย...."
"วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่เหนือปากคลองอัมพวา  เมืองสมุทรสงคราม ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสร้างใหม่  ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฎิสังขรณ์..."
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้่าเจ้าอยุ่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยาราม คร้ังแรกเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยตามหน้าที่ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น เป็นการเสด็จปลอมแปลงพระองค์มาอย่างสามัญชน  ที่เรียกกันว่า  เสด็จประพาสต้น  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เป็นทำนองจดหมายเหตุของนายทรงอานุภาพมหาดเล็กหุ้มแพร  ถึงเพื่อนชื่อประดิษฐ์เล่าเรื่องเสด็จพระพาสต้นไว้อย่างสนุกสนาน  แต่ได้ทรงกล่าวถึงวัดอัมพวันเจติยารามไว้เพียงสั้นๆ ว่า

 "วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง  แล้วเสด็จวัดอัมพวัน  กลับถึงที่ประทับเวลาค่ำ...."

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๒  และนับเป็นคร้ังสุดท้าย  หลังจากนั้นก็มิได้เสด็จประพาสต้นทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยารามอีกเลย  จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในปีต่อมา คือวันที่ ๒๓  ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ 





วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ 1) คำนำ





โดย 



เทพ สุนทรศารทูล


  คำนำ

          อาตมาภาพมาครองวัดอัมพวันเจติยารามนี้ ก็รู้สึกหนักใจเป็นอันมาก  ด้วยวัดนี้เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญที่สุด  เป็นวัดต้นราชวงศ์จักรีทางฝ่ายกรมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  เกรงว่าความรู้ความสามารถจะไม่คู่ควรกับวัดที่สำคัญเช่นนี้  แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  ส่วนหัวใจนั้นก็ปรารถนาเป็๋นทีสุดที่จะเห็นวัดนี้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต  และปรารถนาที่สุดก็คือ  อยากเห็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้ถูกสร้างขึ้นประดิษฐานไว้คู่บ้านคู่เมืองในจังหวัดสมุทรสงครามนี้  ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นทีวัดอัมพวันอันเป็นสถานที่ประสูตินี้  ซึ่งอาตมาเชื่อมั่นโดยไม่คลางแคลงใจเลยแม้แต่น้อยว่า  พระองค์ประสูติ  ณ บริเวณที่สร้างพระปรางค์นี้แน่นอน  อาตมาเห็นว่าพระองค์เป็๋นกษัตริย์ชาวเมืองสมุทรสงคราม  พระราชชนนีของพระองค์ เป็นชาวอัมพวา  และพระองค์ประสูติที่อัมพวา  ก็อยากเห็นพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองต่อไป  แม้จะมิได้เห็นความสำเร็จในชีวิตอาตมา   แต่ถ้าทราบว่าการสร้างพระบรมรูปจะเกิดมีขึ้นแน่นอน แล้ว อาตมภาพก็เห็นจะนอนตายตาหลับ

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินต้น ที่วัดอัมพวันฯเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ อาตมาภาพก็ได้ทูลถวายพระพรถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้  พระองค์ก็รับสั่งว่า "เขียนสิ  รู้อะไรก็เขียนไว้"  และอาตมาภาพก็ซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างหาที่สุดมิได้  แต่มานั่งคิดนอนคิดแล้วก็จนด้วยเกล้า   เพราะอาตมภาพเป็นผู้ครองวัด  จะกลายเป็นว่าโฆษณาสินค้า หรือโฆษณาตัวเองไป 
 นึกมองหาผํูทีจะทำหน้าที่แทนตนเองอยู่นาน  ก็เห็นแต่คุณเทพ สุนทรศารทูล  เป็นผู้ที่สนใจเรืองวัดอัมพวันฯ และประวัติราชินีกุลบางช้างอยู่  จนได้เขียนไว้ในหนังสือวารสารสมุทรสงคราม  อาตมภาพ  จึงได้ขอร้องให้ช่วยเขียนให้ด้วย  ซึ่งคุณเทพ สุนทรศารทูล  ก็รับคำด้วยดีบอกกับอาตมภาพว่า จะเขียนให้โดยถือเสมือนหนึ่งว่า ่"เขียนโดยรับสั่ง"  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อาตมภาพก็ปลื้มใจ  
วัดอัมพวันนี้  สำคัญอย่างไร  อาตมภาพก็ไม่อยากจะกล่าวให้มาก  และครั้งหลังสุดนั้น   สมัยสงครามโลกครังที่ ๒  ท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้อพยพหลบภัย  ย้ายจังหวัดมาอยู่ที่วัดนี้  ศาลจังหวัดก็มาทำงานที่ตำหนักวัดนี้  ท่านม.ล.ปิ่น มาลากุล  ก็มาที่วัดนี้หลายครั้ง  เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาชมบ่อย  อาตมภาพไม่มีอะไรจะแจก ครั้งนี้คงจะได้แจกหนังสือประวัติวัดให้แก่ผู้่มาชมได้โดยทั่วกัน  

(พระอัมพวันเจติยาภิบาล)
เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม

วัดอัมพวันเจติยาราม  สมุทรสงคราม
  ๑๘ ตุลาคม ๒๕๐๖