วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๗ )

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๑๗
        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสองค์ที่ ๔ในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชประวัติอันมหัศจรรย์ กล่าวคือ ทรงปฎิสนธิมาในโลกนี้ ในฐานะสามัญชนแล้วต่อมาได้เป็นเจ้าฟ้า  ได้เป็นพระมหาอุปราช ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในที่สุด  และในเวลาที่พระองค์ทรงจุติปฎิสนธิมานั้นบ้านเมืองก็กำลังเป็นกลียุค  พม่าเหยียบย่ำกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ในขณะที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองอยู่นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังทรงสถิตอยู่ในครรภ์พระราชมารดา  

     พระเจ้าตากสินมหาราชตีกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้นแตกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ยังไม่ประสูติ  กองทัพพม่าถูกตีแตกสูญสิ้นไปแล้วถึง ๓ เดือนเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ประสูติ  เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๑๐  จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องหลบภัยพม่าต่อไปอีก


พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม 





พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 ณ. วัดอัมพวันเจติยาราม 



     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคงจะได้มาประสูติที่พระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) ที่บริเวณวัดอัมพวันเจติยารามนั่นเอง 


วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๖)


ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม
ตอนที่ ๑๖

        สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) นั้นนับว่าท่านเป็นสตรีที่มีบุญบารมีเป็นอัศจรรย์ท่านหนึ่งในเมืองไทย  ท่านกำเนิดมาเป็นธิดาเศรษฐี ได้เป็นคุณหญิง ท่านผู้หญิง และพระบรมราชินี ได้เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  และพระมหาอุปราชถึง ๒ พระองค์  ได้เป็นสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอีกถึง ๓ พระองค์  คือรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระชนมายุยาวนานมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๖๙ จึงสวรรคต ท่านประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๘๐  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ทรงเสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพ.ศ.๒๓๐๕  มีราชโอรสธิดารวม ๙ องค์คือ
     ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์แต่คร้ังกรุงศรีอยุธยายังไม่แตก 
     ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
     ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่  เป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช มีพระราชโอรสองค์หนึ่งคือ  เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต 
    ๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ (วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุล นพศก จ.ศ. ๑๑๒๙)   สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๖๗ 
     ๕.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมหลวงศรีสุนทรเทพ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๑๓ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๕๐
     ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์สมัยกรุงธนบุรี
     ๗. กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ ประสูติพ.ศ. ๒๓๑๕ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๖๐
     ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์สมัยกรุงธนบุรี 
     ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประไพวดี  กรมหลวงเทพยวดี ประสูติพ.ศ.๒๓๒๐  สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๖๖

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม (ตอนที่ ๑๕)




     ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้สร้างวัดนี้   สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี   หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้างแน่นั้น  สมควรจะยุติลงได้ว่า  สมเด็จพระรูปฯ คงจะได้บริจาคที่สวนเดิมอุทิศถวายให้เป็นที่สร้างวัดไว้ก่อน  ต่อมาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  คงจะได้ทรงเป็นหัวหน้าบรรดาเจ้าคุณพระอัยกาทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทร  ซึ่งเป็นเจ้าราชินิกุลแต่มั่งมีศรีสุขแล้วน้ัน  รวมรวมที่ดินและพระตำหนักเดิมของแต่ละท่านเข้าด้วยกัน  สร้างวัดถวายแด่สมเด็จพระรูปฯ   สร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญและกุฎิสงฆ์ขึ้นก่อน  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ก็เสริมสร้างขี้นอีก มาในรัชกาลที ๓ ก็บูรณะปฎิสังขรณ์เป็นการใหญ่  สร้างพระปรางค์ พระวิหาร พระที่นั่งทรงธรรมขึ้น  และในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ก็บูรณะซ่อมแซมมาทุกๆรัชกาลดังกล่าวแล้ว   แต่ก็คงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระรูปฯผู้ทรงเป็นต้นวงศ์ราชินิกุลบางช้างทั้งสิ้น     ฉนั้นจึงยุติลงได้ว่า   วัดนี้สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสร้างดังกล่าวแล้ว   จึงควรจะได้กล่าวถึงประวัติท่านผู้สร้างวัดนี้ด้วย

     สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  พระนามเดิมว่า สั้น ทรงสืบเชื้อสายมาแต่ท่านตาเจ้าแสน   ท่านตาเจ้าแสนมีบุตรีชื่อ ท่านยายเจ้าถี   ท่านยายเจ้าถีมีธิดาชื่อ สั้น คือสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี  สมเด็จพระรูปฯ สมรสกับสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ พระนามเดิมว่า ทอง  ซึ่งเป็นบุตรท่านยายเจ้าชี   ท่านยายเจ้าชีเป็นบุตรท่านตาปะขาวพลอย  และท่านตาปะขาวพลอยเป็นบุตรท่านตาเจ้าแสน  ฉนั้นสมเด็จพระรูปและสมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอก็เป็นญาติวงศ์เดียวกัน  สืบมาแต่พี่น้องท้องเดียวกัน  ๒ ท่านชื่อพลาย กับแสน 

     สมเด็จปฐมบรมอัยยิกาเธอ(ทอง) นั้นสิ้นพระชนม์แต่สมัยกรุงธนบุรี  ส่วนสมเด็จพระรูปฯ ได้ทรงผนวชเป็นชีมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๑   ทรงมีพระโอรสธิดารวม ๑๐ ท่านคือ

    ๑. เจ้าคุณหญิงแว่น ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
    ๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ สมรสกับท่านตาเจ้าขุนทอง  มีบุตร ๑ ธิดา๑ คือ  เจ้าพระยาอัครมหาเสนา(สังข์)  สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒  และเจ้าจอมหงษ์ ในรัชกาลที่ ๑ 
    ๓. เจ้าคุณชายชูโต  สมรสกับท่านยายทองดี  มีธิดาชื่อคุณหญิงม่วง  เป็นภรรยาพระยาสมบัติบาล(เสือ) มีบุตรธิดาสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล ชูโต   ต่อมาแยกเป็น แสงชูโต และ สวัสดิชูโต รวม ๓ สาขา
    ๔. สมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม  มีพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  สืบสายราชวงศ์จักรีต่อมาจนบัดนี้  และทรงเป็นต้นราชสกุล  ณ อยุธยา ในบัดนี้ หลายสาขา คือ กล้วยไม้, กุสุมา, เดชาติวงศ์, พนมวัน, กุญชร, เรณุนันทน์, นิยะมิศร, ทินกร, ไพฑรูย์, มหากุล, วัชรีวงศ์, ชุมแสง, สนิทวงศ์, มรกฎ, นิลรัตน์, อรุณวงศ์, กปิตถา, อาภรณ์กุล, ปราโมช, มาลากุล, พนมวัน รวม ๒๑ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๓อีก คือ ศิริวงศ์, อรนพ,สุบรรณ, สิงหรา, ชมพูนุช, ปิยากร, คเนจร, โกเมน, งอนรถ, อุไรพงศ์, ลำยอง, ลดาวัลย์ และชุมสาย รวม ๑๓ สาขา

     สืบสายราชสกุลทางรัชกาลที่ ๔ อีกคือ  นพวงศ์, สุประดิษฐ์, กฤษดากร, คัคณางค์, สุขสวัสดิ์, ทวีวงศ์, ทองใหญ่, เกษมสันต์, กมลาศน์, จักรพันธ์ุ, เกษมศรี, ศรีธวัช, ทองแถม, ชุมพล, เทวกุล, ภาณุพันธ์ุ, สวัสดิกุล, จันทรทัต, ชยางกูร, วรวรรณ, ดิศกุล, โสณกุล, จิตรพงศ์, วัฒนวงศ์, สวัสดิวัฒน์,  ไชยันต์  รวม ๒๖ สาขา

     สืบสายมาทางราชสกุลรัชกาลที่ ๕ อีก คือ กิตติยากร, รพีพัฒน์, ประวิตร, จิรประวัติ, อาภากร ,บริพัตร, ฉัตรชัย, เพ็ญพัฒน์, จักรพงศ์, ยุคล, วุฒิชัย, สุริยง, รังสิต, จุฑาธุช, และมหิดล รวม ๑๕ สาขา 

    สืบสายมาทางกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  คือกาญจนวิชัย, กัลยาณะวงศ์, สุทัศนีย์, วรวุฒิ,รุจจวิชัย, วิบูลยพรรณ, รัชนี, และวิสุทธิรวม ๘ สาขา

     รวมที่สืบสายสกุลโดยตรงลงมาทางสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ๑๐๕ สาขา
     ๕.เจ้าคุณชายแตง ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล 
     ๖.เจ้าคุณหญิงชีโพ  ถูกพม่าจับไปสูญสิ้นวงศ์
     ๗.เจ้าคุณชายพู ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๘. เจ้าคุณหญิงเสม ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล
     ๙. เจ้าคุณหญิงนวล สมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค)  มีบุตรสืบสกุล"บุนนาค" ต่อมา อันนับเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาใหญ่ 
     ๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว  คนท้ังหลายเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง  เพราะท่านอยู่ที่บางช้างตลอดมาจนสิ้นบุญ สมรสกับพระแม่กลองบุรี(ศร) เจ้าเมืองแม่กลอง หรือเมืองสมุทรสงครามในบัดนี้  ตำแหน่งเจ้าเมืองแม่กลองน้ันเรียกว่า พระยาแม่กลอง หรือ พระยาสมุทรสงคราม  ตามชื่อเมืองอันเป็นนามตำแหน่ง แต่บรรดาศักดิ์จริงนั้นในที่หลายแห่งว่าเป็นพระแม่กลอง  มีบุตรสืบสกุลต่อมาเป็นสกุล "ณ บางช้าง"   อันเป็นราชินิกุลบางช้างสาขาหนึ่ง  คนส่วนมากเข้าใจว่าสกุลนี้เท่านั้นที่เป็นราชินิกุลบางช้าง  ที่จริงน้ัน สกุล  ณ บางช้าง กับ ราชินิกุลบางช้าง  นั้น คนละคำมีความหมายต่างกัน 

     ถ้าพูดถึง ราชินิกุลบางช้าง ก็หมายรวมถึง สกุล บุนนาค  และสกุล ชูโต แสงชูโต ด้วย เพราะเป็นราชินิกุล หรือสกุลฝ่ายวงศ์ญาติข้างพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  สมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก  เป็นต้นกำเนิดวงศ์ราชินิกุลบางช้าง  คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทรฯ  ก็ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่น้ันมา เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒   หรือพูดง่ายๆว่าถ้าสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ไม่มีพระราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ราชินิกุลบางช้างก็ไม่มี

     ที่นำเอาราชินิกุลบางช้างและราชสกุลที่สืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มาลงไว้ยืดยาวก็เพื่อประโยชน์ของท่านที่ประสงค์จะบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอัมพวันเจติยาราม  หรือคิดจะสร้างพระรูปของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  หรือพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับเมืองนี้ในวันหน้า  จะได้ระลึกถึงผู้สืบสายราชินิกุลแบะราชสกุลดังกล่าวแล้วนี้  เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกันให้สำเร็จต่อไป